คนเรา "ตรอมใจตาย" ได้จริงหรือไม่
เมื่อไรที่สูญเสียคนในครอบครัวหรือคนรัก ในทางการแพทย์แล้ว เรา “ตรอมใจตาย” ได้จริงๆ หรือไม่
“ตรอมใจ” เป็นคำที่เรียกอาการเจ็บปวดบอบช้ำทางความรู้สึกมากกว่าอาการเจ็บปวดจากทางร่างกาย โดยมักเป็นอาการเสียใจจากการสูญเสียคนรัก ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว สามีภรรยา หรือแม้กระทั่งอาการอกหัก รักที่ไม่สมหวัง ก็อาจมีอาการตรอมใจได้
แต่อาการ “ตรอมใจตาย” ที่เราเห็นกันอยู่ในหน้าข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนที่เพิ่งสูญเสียคนที่รักไป เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เราเสียชีวิตจากความเสียใจได้จริงหรือไม่
รู้จัก Broken Heart Syndrome
สาเหตุของอาการตรอมใจ อาจมีด้วยกันหลายสาเหตุ แตกต่างกันไปตามปัญหาสุขภาพของแต่ละบุคคล แต่หนึ่งในนั้นมีอาการที่เรียกว่า Broken Heart Syndrome ที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย
Broken Heart Syndrome ไม่ได้มาจากอาการอกหักรักคุดแต่เพียงอย่างเดียวตามชื่อ แต่มาจากการเครียดสะสมหรือภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงสามารถทำให้เกิดอาการหัวใจสลาย นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า อาการ Broken Heart Syndrome พบมากในหญิงวัยกลางคน มีความสัมพันธ์กับความเครียดจากโรคทางกาย (Physical Stress) หรือความเครียดด้านจิตใจ (Mental Stress) ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่บีบตัวและอ่อนกำลังลงชั่วคราว หัวใจด้านล่างซ้ายผิดปกติโป่งออกรูปร่างคล้ายไหจับปลาหมึกของญี่ปุ่น อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตได้
อาการตรอมใจที่สังเกตได้
อาการตรอมใจ หรือ Broken Heart Syndrome ที่สังเกตได้จากภายนอก คือ
- แน่นและเจ็บหน้าอก
- มีอาการหอบเหนื่อย
- หายใจลำบาก
- หน้ามืด
- ความดันเลือดต่ำ
นอกจากนี้ ยังมีอาการที่ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
- รู้สึกผิดในเรื่องอื่นๆนอกเหนือจากที่เกี่ยวกับสิ่งที่คิดว่าตนควรทำ หรือไม่ควรทำในช่วงที่ผู้ตายเสียชีวิต
- คิดหมกมุ่นเกี่ยวกับความตาย นอกเหนือจากความรู้สึกอยากตายแทน หรือตายไปพร้อมกับผู้เสียชีวิต
- คิดหมกมุ่นว่าตนไร้ค่า ไม่มีความหมาย
- มีการเคลื่อนไหวและความคิดช้าอย่างชัดเจน (marked psychomotor retardation)
- มีการบกพร่องของการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆทั้งทางสังคมและการงานอย่างมากเป็นเวลานาน
- มีอาการประสาทหลอน นอกเหนือไปจากการคิดว่าได้ยินเสียง หรือเห็นภาพของผู้ตายเป็นช่วงขณะสั้นๆ ซึ่งอาจพบได้ในปฏิกิริยาปกติ
วิธีรักษาอาการตรอมใจ
ผู้ป่วยที่มีภาวะ Broken Heart Syndrome จะต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพราะอาจจะมีอาการที่รุนแรงขึ้นได้ วิธีการรักษาหากอาการไม่รุนแรงอายุรแพทย์โรคหัวใจจะให้การรักษาด้วยยา แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงและมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วยอาจต้องมีการใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ และต้องรักษาภาวะเครียดที่เป็นปัจจัยกระตุ้นร่วมด้วย
นอกจากการรักษาด้วยยา ยังมีการรักษาด้วยการให้คำปรึกษาเพื่อรักษาอาการทางจิต โดยเน้นให้ผู้ป่วยยอมรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ ให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญกับความจริงของการสูญเสีย โดยปล่อยให้ตัวเองแสดงความรู้สึกต่อการสูญเสียได้ สามารถปรับตัวกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการสูญเสียได้ และสามารถตัดใจจากผู้ที่จากไป และสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เช่น เปิดใจมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับคนอื่นอีกครั้งเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เป็นต้น