"ผื่นกุหลาบ" คืออะไร ทำไมพบบ่อยในหน้าฝน

"ผื่นกุหลาบ" คืออะไร ทำไมพบบ่อยในหน้าฝน

"ผื่นกุหลาบ" คืออะไร ทำไมพบบ่อยในหน้าฝน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ผื่นกุหลาบ” หรือ “โรคขุยดอกกุหลาบ” เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ถึงแม้จะไม่ใช่โรคที่อันตรายอะไรมากนัก แต่กลับเป็นโรคที่สร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้พอสมควร เพราะจะเกิดผื่นขึ้นทั่วร่างกาย หรือในบางรายก็อาจพบอาการอื่นๆร่วมด้วย วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันว่าโรคผื่นกุหลาบมีสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา อย่างไรบ้าง

สาเหตุของ ผื่นกุหลาบ หรือผื่นขุยกุหลาบ (Pityriasis rosea)

พญ.กมลวรรณ พงศ์ปริตร แพทย์ผู้ชำนาญด้านผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) ระบุว่า ผื่นกุหลาบ เป็นโรคผิวหนังที่ไม่ค่อยรุนแรง ไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคที่เกิดจากปฏิกิริยาของผิวหนังต่อภาวะบางอย่าง เช่น โรคติดเชื้อไวรัสบางชนิดในกลุ่ม Human herpes virus 6, 7 ซึ่งไม่ใช่ไวรัสสายพันธ์ุที่เป็นสาเหตุของโรคเริมและโรคอีสุกอีใส และผื่นกุหลาบไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสผิวหนังที่เป็นโรคได้

สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ การใช้ยาบางประเภทก็อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นกุหลาบได้ เช่น Captopril ยาลดความดันโลหิตกลุ่มยาต้านเอนไซม์เอซีอี ยาฆ่าเชื้อ Metronidazole ยา Isotretinoin ที่ใช้รักษาสิว ยา Omeprazole สำหรับรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ยา Terbinafine สำหรับรักษาเชื้อรา เป็นต้น

กลุ่มเสี่ยงผื่นกุหลาบ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นถึงวัยกลางคน พบน้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ส่งผลให้เกิดผื่นขึ้นบริเวณหน้าอก หลัง ต้นแขน ต้นขา คอ ซึ่งมีความกว้างประมาณ 4 นิ้ว โดยผื่นจะปรากฎขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป 6-12 สัปดาห์ และอาจหายไปเองภายใน 1-3 เดือน โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา ทั้งยังไม่สามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นโดยการสัมผัส ผื่นกุหลาบมักส่งผลกระทบต่อเด็ก ผู้ใหญ่ และวัยรุ่นช่วงอายุ 10-35 ปี แต่สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แล้วมักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก

อาการของผื่นกุหลาบ

ผื่นจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

  • ระยะแรก มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีผื่นรูปวงรีราบสีชมพูหรือแดงขนาดใหญ่1ผื่น ตรงกลางจางกว่ารอบๆ นำมาก่อน มีขุยละเอียดสีขาวรอบๆผื่น คล้ายปกเสื้อ (collarette scales) เรียกว่า ผื่นแจ้งข่าวหรือผื่นแจ้งโรค (Herald patch) ขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร ส่วนใหญ่จะเกิดที่บริเวณลำตัวที่อยู่ในร่มผ้า เช่น ท้อง หน้าอก คอ หลัง ไม่ค่อยพบผื่นที่หน้า หรือบริเวณอวัยวะเพศ
  • ระยะที่ 2 ไม่เกิน 2 สัปดาห์ (แต่มีรายงานว่าห่างจากระยะที่ 1 ได้ถึง 2 เดือน) ผื่นลักษณะคล้ายกัน แต่ขนาดเล็กกว่า จะเพิ่มจำนวนขึ้น โดยมักพบผื่นกระขายที่ลำตัว หลัง ต้นแขน และต้นขา โดยผื่นมักจะกระขายตามเส้นพับของร่างกาย ซึ่งหากมองบริเวณลำตัว จะดูคล้ายลักษณะของต้นคริสต์มาส (christmas-tree pattern) ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้วินิจฉัยจากอาการได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคัน ระคายเคืองร่วมด้วย โรคนี้มักไม่พบผื่นที่มือ เท้า หรือในช่องปาก อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางส่วนอาจพบผื่นในตำแหน่งอื่นๆ เช่น ซอกพับ หน้า หรือฝ่าเท้า เรียกว่ากลุ่ม Atypical pityriasis rosea ซึ่งอาจต้องใช้การตัดชิ้นเนื้อผิวหนังตรวจเพื่อการวินิจฉัย อาจมีอาการคัน ระคายเคืองร่วมด้วย

บางคนอาจรู้สึกไม่สบายร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดข้อ ร่วมด้วย

ทั้งนี้ อาการผื่นขุยทั้ง 2 ระยะจะปรากฏอยู่นาน 2-12 สัปดาห์ อาจหายแล้วทิ้งรอยดำได้ แต่จะไม่ทำให้เกิดแผลเป็น บางรายอาจมีอาการคงอยู่นานถึง 5 เดือนและหายไปเอง

การวินิจฉัยผื่นกุหลาบ

ในเบื้องต้น แพทย์มักวินิจฉัยผื่นกุหลาบด้วยการตรวจดูผิวหนังบริเวณที่เกิดความผิดปกติ หากยังไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน แพทย์อาจสั่งตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม เช่น

  • เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ บริเวณที่เป็นผื่นแล้วนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเชื้อรา เพราะผู้ป่วยบางรายอาจเป็นโรคผิวหนังชนิดอื่นที่มีอาการคล้ายผื่นกุหลาบ
  • ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาเชื้อซิฟิลิส ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดแผลหรือผื่นตามร่างกายคล้ายผื่นกุหลาบ
  • ในบางกรณีที่ผื่นไม่มีลักษณะสำคัญที่ทำให้วินิจฉัยจากอาหารได้ อาจต้องใช้การตัดชื้นเนื้อผิวหนังตรวจ เช่น กรณีเป็น Atypical pityriasis rosea

วิธีการรักษาผื่นกุหลาบ

             ผื่นกุหลาบ ไม่ใช่โรคติดต่อ โดยปกติแล้วอาการผื่นกุหลาบมักจะหายไปได้เองภายใน 2-12 สัปดาห์ การรักษาเป็นแบบการประคับประคองตามอาการเป็นหลัก

การใช้ยารักษา

  • ยารับประทานแก้แพ้กลุ่ม Antihistamine ใช้เพื่อลดอาการคันที่ผิวหนัง
  • ยาปฏิชีวนะและยาต้านไวรัสที่มีรายงานการใช้ คือ erythromycin 250 mg วันละ 4 ครั้ง หรือ acyclovir 800 mg วันละ5ครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งพบว่าสามารถลดระยะเวลาการเกิดผื่นได้ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น จึงแนะนำให้ใช้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการผื่นมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น ไข้ ผื่นขึ้นเยอะมากทั่วตัว และต้องประเมินโอกาสการเกิดผลข้างเคียงของยาในผู้ป่วยร่วมด้วย
  • ครีมบำรุงผิว(Moisturizer) ใช้เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวบริเวณที่เกิดผื่น
  • ยาทาในกลุ่ม Steroidใช้เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง
  • และในบางรายที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจต้องรับการรักษาด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB Light Therapy) เพื่อช่วยให้อาการของโรคทุเลาลง

การดูแลตัวเองสำหรับโรคผื่นกุหลาบ

  • อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติและหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน หรือน้ำอุ่นจัด
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสูตรอ่อนโยนและไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม
  • หลีกเลี่ยงการเกาผื่นถูผื่นแรงๆ และตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากการเกา
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีและไม่ก่อให้เกิดการเสียดสีระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนเพราะสภาพอากาศที่อบอ้าว และการมีเหงื่อออกมากอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยบางรายสังเกตตัวเองว่า มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นได้บ่อย ก็อาจหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้นๆ เช่น ยาบางชนิด อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เหงื่อ สิ่งแวดล้อมบางอย่าง เป็นต้น

การป้องกันโรคผื่นกุหลาบ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันโรค เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้อย่างแน่ชัด

ผื่นกุหลาบ สามารถพบได้ตลอดทั้งปี โดยส่วนใหญ่มักพบบ่อยในช่วงฤดูฝน อาจเนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลง เป็นโรคที่ไม่รุนแรง หายไปได้เองภายใน 2-12 สัปดาห์ การทราบถึงตัวโรคและสาเหตุ รวมถึงคำแนะนำในการปฏิบัติตนและพยากรณ์โรค จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจภาวะที่เป็นมากขึ้น ไม่เครียดไม่กังวลจนเกินไป การรักษาตามอาการ เช่น ยารับประทานลดอาการคัน หรือยาทากลุ่ม Steroid จะช่วยบรรเทาอาการคันได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook