กรดไหลย้อน... ปัญหาร้อนอกของคนวัยทำงาน

กรดไหลย้อน ปัญหาร้อนอกของคนวัยทำงาน

กรดไหลย้อน ปัญหาร้อนอกของคนวัยทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

กรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน คือ โรคที่มีอาการซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน หรือแม้แต่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 

1. โรคกรดไหลย้อนธรรมดา หมายถึง กรดที่ไหลย้อนขึ้นมาจะอยู่ภายในหลอดอาหาร ไม่ไหลย้อนเกินกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน ส่วนใหญ่จะมีอาการของหลอดอาหารเท่านั้น

2. โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง หมายถึง โรคที่มีอาการทางคอและกล่องเสียง ซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของคอและกล่องเสียง จากการระคายเคืองของกรด

อุบัติการณ์ของโรคกรดไหลย้อนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตกค่อนข้างสูง  เฉลี่ยประมาณร้อยละ 50-60 ส่วนในประเทศไทย พบว่าคนไทยวัยทำงานประสบปัญหาโรคกรดไหลย้อนกันมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ

1. คนไทยรับอิทธิพลของตะวันตกมากขึ้น การดำเนินชีวิตของแต่ละคนเปลี่ยนไป เหมือนกับคนตะวันตกมากขึ้น เช่น 

- ทำงานเลิกดึก ทำให้รับประทานดึก พอรับประทานแล้วก็เข้านอนทันที ทำให้ความดันในช่องท้อเพิ่มมากขึ้น เกิดการไหลย้อนของกรดได้ง่ายขึ้น 

- เครียดกับงานมากขึ้น เมื่อเครียด กระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือหลอดอาหารทำงานได้น้อยลง และหลั่งกรดมากขึ้น มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนมากขึ้น

- ชนิดของอาหาร ปัจจุบันคนทั่วไป นิยมรับประทานอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด พิซซ่า หรืออาหารที่ปรุงด้วยการผัด และทอดกันมากขึ้น รวมทั้งนิยมดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลมกันมากขึ้น อ้วน ไม่ออกกำลังกาย 

ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนส่งเสริมให้มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนมากขึ้น

2. มีเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งคือ Helicobacter pylori (H. pylori) ปัจจุบันเชื้อชนิดนี้มีบทบาทเกี่ยวกับแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้น   เชื้อนี้มีข้อดีคือ ช่วยปกป้องภาวะกรดไหลย้อน แต่ในปัจจุบัน มีการสั่งยาที่ทำลายเชื้อชนิดนี้กันมากขึ้น ในการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือแผลในกระเพาะอาหาร   เมื่อเชื้อชนิดนี้ถูกทำลายไป ทำให้มีโอกาสเกิดโรคกรดไหลย้อนมากขึ้นด้วย 

สาเหตุของการเกิดกรดไหลย้อน

  • กินอาหารเสร็จใหม่ๆ มีอาการอิ่ม หรือกินอาหารยังไม่ครบ 4 ชั่วโมงแล้วนอน
  • เกิดจาก Hiatus hernia ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหารส่วนต้นยื่นเข้าไปในกระบังลม
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่เป็นน้ำอัดลม
  • รับประทานอาหารจำพวกที่เป็นของทอด ของมัน หรืออาหารที่มีรสจัด

กรดไหลย้อนมีได้หลายอาการ

อาการของโรคกรดไหลย้อนมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ถูกระคายเคืองโดยกรด เช่น

1. อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ (heartburn)  บางครั้งอาจร้าวไปที่บริเวณคอได้  รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอหรือแน่นคอ  กลืนลำบาก  กลืนเจ็บ หรือกลืนติดๆ ขัดๆ คล้ายสะดุดสิ่งแปลกปลอมในคอ  เจ็บคอ  แสบคอ หรือปาก  แสบลิ้นเรื้อรังโดยเฉพาะในตอนเช้า  รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก  มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา เรอบ่อย  คลื่นไส้ คล้ายมีอาหารหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอกหรือคอ รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย  มีน้ำลายมากผิดปกติ  มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุได้

2. อาการทางกล่องเสียง และหลอดลม
 เช่น เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า  หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม  ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือขณะนอน  ไอ หรือรู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน  กระแอมไอบ่อย อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่ (ถ้ามี) แย่ลง หรือไม่ดีขึ้นจากการใช้ยา  เจ็บหน้าอก  เป็นโรคปอดอักเสบเป็นๆ หายๆ 

3. อาการทางจมูกและหู
 เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีน้ำมูกไหลลงคอ หูอื้อ หรือปวดหู

'กรดไหลย้อน' ย้อนจากจุดไหน ไปจุดไหน ?

ชื่อโรคที่บอกว่า 'กรดไหลย้อน' นั้น ไม่ได้ตั้งขึ้นมาลอยๆ แต่ยังมาจากอาการที่เกิดขึ้น มีชื่อภาษาอังกฤษว่า gastroesophageal reflux disease: GERD โดยเป็นกรดที่ขึ้นในกระเพาะอาหารแล้วไหลย้อนกลับขึ้นไปที่บริเวณหลอดอาหาร เนื่องจากหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารนั้นทำงานผิดปกติ มีลักษณะที่คลายตัว หรือเปิดออกมากจนเกินไป เป็นเหตุให้กรด หรือของเหลวสามารถไหลจากกระเพาะอาหารขึ้นไปที่หลอดอาหารได้

แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นกรดไหลย้อน

เมื่อแพทย์สงสัยว่าท่านอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน นอกเหนือจากการซักประวัติแล้ว แพทย์จะตรวจร่างกายทางหู คอ จมูก และบริเวณท้องอย่างละเอียด เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคกรดไหลย้อน และแพทย์อาจ

1. ทดลองให้ยาลดกรดชนิด proton pump inhibitor (PPI)
 ขนาดสูง (PPI Test) เช่น omeprazole, esomeprazole, rabeprazole, lansoprazole เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ แล้วสอบถามอาการหลักที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ หรืออาการที่ทำให้ผู้ป่วยรำคาญที่สุด  ถ้าอาการดังกล่าว ดีขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 อาจแสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อน

2. ส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น (Esophago-Gastro-Duodenoscopy)
 อาจเห็นการอักเสบอย่างรุนแรง และแผลในหลอดอาหารส่วนปลายเหนือกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดจากโรคกรดไหลย้อน แต่แพทย์ไม่ได้ส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้นในผู้ป่วยทุกราย
ผู้ป่วยรายใดควรได้รับการส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้น

- มีอาการที่เป็นสัญญาณเตือน (เช่น กลืนลำบาก น้ำหนักลด  มีอาเจียนเป็นเลือด มีก้อนที่คลำได้ที่หน้าท้อง)

- มีปัญหาในการวินิจฉัย เช่น มีอาการแปลกๆ ที่อาจไม่เหมือนโรคกรดไหลย้อนทีเดียว 

- มีอาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ เป็นระยะเวลานานมากกว่า 5 ปี

- ให้การรักษาโรคกรดไหลย้อน แล้วไม่ดีขึ้น 

- ใช้ประเมินผู้ป่วย ก่อนได้รับการผ่าตัดรักษาโรคกรดไหลย้อน

ส่งตรวจวัดค่าความเป็นกรด ด่าง (pH) ในหลอดอาหารและคอหอยส่วนล่าง (Ambulatory 24-Hour Double–Probe pH Monitoring) วิธีนี้ถือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน โดยตัววัดค่าความเป็นกรด ด่าง ของคอหอยส่วนล่าง  มักจะวางอยู่เหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนประมาณ 2 เซนติเมตร (pharyngeal probe) ส่วนตัววัดค่าความเป็นกรด ด่างในหลอดอาหาร จะวางอยู่เหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างประมาณ 5 เซนติเมตร (esophageal probe)  เมื่อค่าความเป็นกรด ด่าง ของ pharyngeal probe ต่ำกว่า 5 และค่าความเป็นกรด ด่าง จาก esophageal probe ต่ำกว่า 4  ระหว่างหรือในขณะที่มีกรดไหลย้อนขึ้นมาจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง และระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของค่าความเป็นกรด ด่าง ดังกล่าว นานกว่าปกติ บ่งบอกว่ามีโรคกรดไหลย้อน อย่างไรก็ตาม การตรวจวิธีนี้ เป็นการตรวจที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกทรมาน หรือรำคาญ และต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง  จึงมักใช้ในกรณีที่มีปัญหาในการวินิจฉัยเท่านั้น หรือในงานวิจัย หรือช่วยยืนยันโรค ก่อนที่จะนำผู้ป่วยไปผ่าตัด

จะสังเกตได้ยังไงว่าเป็น ‘กรดไหลย้อน’ แน่นอนแล้ว ?

จากการติดตามข้อมูลตามแหล่งต่างๆ พบว่า ‘ชาวออฟฟิศ’ นี่แหละที่จะมีโอกาสเป็นกรดไหลได้มากที่สุด เพราะว่าในหนึ่งวันที่เราต้องทำแต่งานจนไม่มีเวลา พอจะได้รับประทานอาหารแต่ละมื้อสักทีก็เกือบใกล้เวลานอน พอกินเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นอน อาหารยังไม่ทันย่อยดีจึงทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารจนเป็นกรดไหลย้อนได้นั่นเอง

ถึงแม้ว่าในทุกวันนี้จะมีผู้ป่วยที่เป็น ‘กรดไหลย้อน’ เป็นจำนวนมาก แต่ก็ถือว่ายังเป็นโรคใหม่ที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดได้อย่างแน่ชัด อีกทั้งยังเป็นอาการที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงมักไม่รู้ตัวว่าเป็น และทำการรักษาในแบบที่ไม่ตรงกับโรค สุดท้ายอาการที่เกิดขึ้นก็ไม่หายไป จนต้องทนทุกข์ความทรมานที่เกิดขึ้นอยู่อย่างไม่จบสิ้น ถึงขนาดว่าคนที่เป็นแพทย์เผลอวินิจฉัยผิดพลาดก็ยังมีเลยคิดดูสิ

ไหน .. เรามาเริ่มสังเกตพร้อมกันดีกว่า ว่าอาการแบบไหนที่ส่อเค้าว่าเรากำลังจะเป็น ‘กรดไหลย้อน’ ได้นะ ?

  • แสบที่ยอดอก บางครั้งก็อาจจะแสบลามยาวไปที่คอได้
  • เรอเหม็นเปรี้ยว บ่อยครั้งที่เรอแล้วเป็นน้ำรสเปรี้ยว หรือขมไหลย้อนขึ้นมาที่คอ หรือปาก อีกทั้งยังจะเป็นมากภายหลังที่รับประทานอาหารมื้อหนักๆ หรือมีอาการเกิดขึ้นเมื่อเราโน้มตัวไปข้างหน้า ยกของหนัก หรือนอนหงาย
  • มีอาการเรอบ่อย รู้สึกคลื่นไส้
  • มีความรู้สึกว่าเหมือนมีก้อนอยู่ในคอ กลืนลงลำบาก หรือกลืนแล้วรู้สึกเจ็บคอ
  • มีอาการเจ็บคอ หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเช้า
  • มีเสมหะอยู่ในคอ หรือรู้สึกระคายคอตลอดอยู่ตลอดเวลา
  • รู้สึกจุกแน่นหน้าอก คล้ายกับอาการอาหารไม่ย่อย
  • เสียแหบเรื้อรัง หรือเสียงแหบเฉพาะในเวลาเช้า หรือมีเสียงที่ผิดปกติไปจากเดิม
  • กระแอมบ่อย มีอาการไอเรื้อรัง หรือรู้สึกสำลักในเวลากลางคืน
  • มีอาการหอบหืด อีกทั้งอาการนั้นยังแย่ลงเรื่อยๆ
  • เป็นโรคปอดอักเสบที่แบบเป็นๆ หายๆ

กรดไหลย้อน กับ โรคกระเพาะ ต่างกันยังไง ?

ถ้าหากใครที่ไม่เคยเป็นโรคกรดไหลย้อนมาก่อนน่าจะแยกแยะไม่ออกว่าแบบไหนที่เรียกว่า ‘กรดไหลย้อน’ แล้วแบบไหนกันที่ทำให้เราแน่ใจว่าเป็น ‘โรคกระเพาะ’ เนื่องจากว่าทั้ง 2 โรคนี้มีอาการที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกันมาก จนบางครั้งก็อาจทำให้เข้าใจผิด ข้อสังเกตแรก คือ การเป็นกรดไหลย้อนนั้นจะมีอาการแสบร้อนบริเวณกลางอกลามไปจนถึงลิ้นปี่ ส่วนอาการของโรคกระเพาะก็จะมีอาการแสบร้อนที่บริเวณท้อง ความแตกต่างจะเกิดขึ้นกับอวัยวะไม่เหมือนกัน แต่จากที่่ได้มีการวิจัยเกี่ยวกับทั้ง 2 โรคนี้ในหลายสถาบัน ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า หากเราป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งก็มีโอกาสเสี่ยงถึง 20% ที่จะเกิดอีกโรคด้วย ฉะนั้น หากมีอาการแบบไหนที่แสดงว่าเราจะเป็นโรคในเทือกนี้แนะนำว่าให้รีบไปพบแพทย์ จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ต้องมานั่งคาดเดาแบบไปไม่ตรงจุดกันอีก

จะรักษาโรคกรดไหลย้อนได้ยังไง ?

สาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดโรคกรดไหลย้อนนั้นเกิดมาจากการที่ร่างกายของเราย่อยสลายอาหารที่กินเข้าไปได้อย่างไม่สมบูรณ์ หากเป็นเช่นนี้บ่อยครั้งก็อาจทำให้เราเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อนได้อย่างไม่รู้ ฉะนั้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ เราจึงมีวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดีๆ มาบอกต่อ จะได้ดูแลรักษากรดไหลย้อนได้ตรงตามระยะอาการที่เป็นอยู่ยังไงล่ะ

ระยะที่ 1 ท้องอืด ท้องเฟ้อ

  • กินอาหารก่อน 9 โมงเช้าเป็นประจำ
  • กินขมิ้นชัน ขิง หรือพริกไทยดำก่อนกินข้าวประมาณ 10 นาที เพื่อเพิ่มธาตุไฟให้กับกระเพาะอาหาร ช่วยให้การย่อยทำได้ดียิ่งขึ้น
  • หากมีลมในท้องมาก ก็สามารถที่จะกินยาหอมเพื่อขับลมออกจากท้องได้

ระยะที่ 2 มีอาหารตกค้าง มีจุลินทรีย์ที่ไม่ดีอยู่ในลำไส้มาก

  • เริ่มต้นด้วยการขับอุจจาระออกอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีกินยา หรือสวนทวารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กระเพาะอาหารและเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีให้แก่ลำไส้
  • กินขมิ้นชัน ขิง หรือพริกไทยดำ โดยอาจจะกินพร้อมกัน หรือแยกกินก่อนอาหารประมาณ 15 นาทีก็ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับระบบย่อยอาหาร
  • เติมจุลินทรีย์ที่ดีเข้าสู่ลำไส้ด้วยการดื่มน้ำหมักชีวะภาพ หรือโพรไบโอติก (Probiotic) แบบผงหลังมื้ออาหาร เพื่อเข้าไปลดปริมาณจุลินทรีย์ที่ไม่ดีในลำไส้ไม่ให้มีมากจนเกินไป

ระยะที่ 3 สารอาหารในเลือดเหลือน้อย ทำให้เซลล์ขาดสารอาหาร

  • เติมสารอาหารที่มีประโยชน์เข้าสู่กระแสเลือด ด้วยการกินโสม กระชาย หรือดื่มธัญพืชในแบบผงที่ชงดื่มได้ง่าย
  • เติมธาตุไฟเข้าสู่กระเพาะอาหารและเติมจุลินทรีย์ที่ดีเข้าสู่ร่างกายเหมือนกับระยะที่ 2

ภาวะแทรกซ้อนจากการเกิดกรดไหลย้อน

ถึงแม้ว่าการเกิด ‘กรดไหลย้อน’ นั้นจะไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่ค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงจนอาจทำให้ผู้เกิดความทรมาน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวตและประสิทธิภาพในการทำงานเป็นอย่างมาก ดังนั้น เมื่อใครที่มีอาการที่เสี่ยงว่าจะเป็นโรคกรดไหลย้อนจึงควรเดินทางไปปรึกษาแพทย์ และเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะหากเป็นกรดไหลย้อนเข้าจริงๆ จะได้รับการรักษาอาการอย่างถูกต้องต่อไป นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรให้ความสนใจ ไม่ควรละเลย ฉะนั้นอาการที่เกิดขึ้นอาจเรื้อรังและเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดังนี้ได้ ..

  • หลอดอาหารอักเสบ โดยจะมีอาการเจ็บหน้าอกขณะที่กลืนอาหาร
  • เกิดแผลที่บริเวณหลอดอาหาร จนอาจทำให้มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนบน เช่น อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจราะออกมาเป็นสีดำ
  • หลอดอาหารเกิดการตีบตัน การกลืนอาหารทำได้ลำบาก อาเจียนบ่อย
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในเยื่อบุหลอดอาหาร ยิ่งถ้าหากอาการรุนแรงขึ้นก็อาจทำให้เกิดมะเร็งหลอดอาหาร โดยจะมีอาการเจ็บขณะที่กลืนอาหาร กลืนอาหารลำบาก อาเจียนบ่อย และน้ำหนักลด

ปรับพฤติกรรมแก้กรดไหลย้อน

การรักษาและการป้องกันโรคกรดไหลย้อนที่สำคัญที่สุดคือ “การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต” โดย…

- ถ้าเป็นไปได้ ควรพยายามลดน้ำหนัก ในกรณีที่มีน้ำหนักเกิน เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกิน จะทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้กรดไหลย้อนได้มากขึ้น

- หลีกเลี่ยงความเครียด และถ้าสูบบุหรี่อยู่ ควรเลิก ถ้าไม่เคยสูบ ก็ไม่ควรเริ่มสูบ รวมทั้งให้หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่จากคนอื่นด้วย เพราะความเครียดและการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการหลั่งกรดมากขึ้น

- ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่คับ หรือรัดแน่นเกินไปโดยเฉพาะบริเวณรอบเอว

- ถ้ามีอาการท้องผูก ควรรักษา รับประทานอาหารที่มีกากใย และหลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระ

- ไม่ควรนอนราบ ออกกำลัง ยกของหนัก เอี้ยวหรือก้มตัว หลังจากรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ

- ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อดึก และไม่ควรรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มใดๆ ภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

- ควรรับประทานอาหารไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารทอด  อาหารมัน อาหารย่อยยาก  พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม  กระเทียม  มะเขือเทศ รวมทั้งอาหารรสเผ็ดจัด  เปรี้ยวจัด  เค็มจัด  หวานจัด

- รับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรรับประทานจนแน่นท้อง หรืออิ่มเกินไป

- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ (แม้จะเป็นกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน ก็ไม่ควรดื่ม) ชา  น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ วิสกี้ ไวน์ โดยเฉพาะในตอนเย็น

- ถ้าจะนอนหลังรับประทานอาหาร ควรรอประมาณ 3 ชั่วโมง

- เวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6-10 นิ้วจากพื้นราบ โดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐ อย่ายกศีรษะให้สูงขึ้นโดยการใช้หมอนรองศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น


เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการให้ยารับประทานเพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร หรือเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหารในการกำจัดกรด  ผู้ป่วยควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรลดขนาดยา หรือหยุดยาเอง  ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลานานประมาณ 1-3 เดือนกว่าที่อาการต่างๆ จะดีขึ้น เมื่ออาการต่างๆ ดีขึ้น ประกอบกับผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนนิสัยการดำเนินชีวิตประจำวันตามที่แนะนำไว้ข้างต้น และรับประทานยาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2-3 เดือนแล้ว แพทย์จะปรับลดขนาดยาลงเรื่อยๆ ทีละน้อย  ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเวลาป่วย เนื่องจากยาบางชนิด จะทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้นหรือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงยาบางชนิดถ้าเป็นไปได้ เช่น เอ็นเสด (NSAID)  แอสไพริน วิตามินซี  เบนโซไดอะซีปีน (benzodiazepine) เป็นต้น

การผ่าตัด เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่คอและกล่องเสียง การรักษาวิธีนี้ จะทำในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งรักษาด้วยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้ว แต่ไม่ได้ผล  ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาที่ใช้ในการรักษาโรคนี้ได้  ผู้ป่วยที่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยา แต่ไม่ต้องการที่จะรับประทานยาต่อ และผู้ป่วยที่กลับเป็นซ้ำบ่อยๆ หลังหยุดยา  

นอกจากการรักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในแบบข้างต้นแล้ว เราก็ยังสามารถป้องกันโรคกรดไหลย้อนไม่ให้เกิดกับเราได้ในรูปแบบอื่นๆ ที่ทำได้ง่ายๆ อีก อาทิ

  • ไม่รับประทานอาหารในแต่ละมื้อมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีรสจัด
  • หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และการสูบบุหรี่
  • ไม่ควรนอน หรือเอนกายหลังจากรับประทานอาหารโดยทันที
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • รักษาน้ำตัวให้พอเหมาะ ไม่ให้อ้วนจนเกินไป
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ทำให้จิตใจให้สดใส ร่าเริง ไม่เครียด
  • สวมใส่เสื้อผ้าสบายๆ ไม่คับ หรือแน่นจนเกินไป


สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้คือ การปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นวิธีการรักษาโรคกรดไหลย้อนที่ตรงจุดที่สุด เพราะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลง  ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และลดการกลับเป็นซ้ำ โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไป  จึงควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต เพราะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น หรือหายดีแล้วก็ตาม

 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook