ทำไม "ไทรอยด์เป็นพิษ" ถึงอันตรายถึงชีวิตได้

ทำไม "ไทรอยด์เป็นพิษ" ถึงอันตรายถึงชีวิตได้

ทำไม "ไทรอยด์เป็นพิษ" ถึงอันตรายถึงชีวิตได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนออกมามากเกินไป ส่งผลให้อวัยวะทั่วร่างกายถูกกระตุ้นให้มีการเผาผลาญสูงกว่าปกติ และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอันตรายรุนแรงตามมาได้

ไทรอยด์เป็นพิษ อันตรายมากแค่ไหน

ข้อมูลจาก ศูนย์ศัลยกรรมผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้องชั้นสูง โรงพยาบาลพญาไท 2 ระบุว่า ไทรอยด์มีความสัมพันธ์กับระบบการทำงานหลายด้านในร่างกาย การเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษเรื้อรังนานๆ หรือได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสายตา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตาแห้ง ตาไวต่อแสง ตาแดง บวม ตาโปนออกมามากกว่าปกติ หรือหนังตาปลิ้น ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจลุกลามจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

นอกจากนี้ หัวใจ ก็เป็นอีกระบบหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจวาย เนื่องจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ หรือในผู้ป่วยที่ควบคุมระดับไทรอยด์ได้ไม่ดี อาจเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤต ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วมากผิดปกติ มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ท้องเสีย อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง มีภาวะขาดน้ำ และอาจเกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้

อย่างไรก็ตาม รศ.พญ.ณัฏฐิณี จรัสเจริญวิทยา หน่วยต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า โดยปกติแล้วโรคไทรอยด์เป็นพิษ ที่จะนำไปสู่การเสียชีวิตพบได้ไม่บ่อยนัก และไม่ใช่เป็นโรคที่แพร่ระบาดหรือโรคติดต่อ ปกติแล้วผู้มีอาการต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มีอาการแสดงออกต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน เช่น หิวบ่อย รับประทานอาหารเป็นจำนวนมากแต่ไม่อ้วน ระดับฮอร์โมนสูง และนำไปสู่ความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด แต่ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตมักมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น สภาพร่างกายเดิม หรือโรคประจำตัวอื่นๆ

วิธีป้องกันโรคไทรอยด์เป็นพิษ

อ. พญ. สิรินาถ สิรินทร์วราวงศ์ แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ระบุว่า ไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากร่างกายของเราเอง ดังนั้นไม่สามารถป้องกันได้ เพียงแต่ต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายตนเอง หากมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา 

สำหรับผู้ป่วยที่รักษาอยู่แล้ว ปกติแพทย์มักจะให้การรักษาด้วยการรับประทานยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาใหม่ และยับยั้งการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนที่มีอยู่แล้ว ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรับยาเอง เมื่ออาการต่างๆ ดีขึ้นแล้ว ก็ไม่ควรหยุดยาเองให้ปรึกษาแพทย์ เมื่ออาการดีขึ้น ผลเลือดดีขึ้น แพทย์จึงจะค่อยๆ ลดยาลง ในบางรายอาจหยุดยาได้ในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook