6 อาการเตือน "แพ้ขนแมว" ทาสแมวควรระวัง
ใครที่เลี้ยงแมว หมั่นสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ หากมีอาการเหล่านี้ อาจสันนิษฐานได้ว่าเรากำลังแพ้ขนน้องแมวเข้าแล้ว
รศ.นพ. ฮิโรชิ จันทาภากุล แพทย์ประจำฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า แมว เป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของไทย แต่พบว่าตามสถิติแล้วคนไทยมีอาการแพ้ขนแมวมากถึง 10-15%
อาการแพ้ขนแมว เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก หรืออาจเพิ่งมีอาการแพ้ตอนโต เมื่อไรก็ได้ เหมือนกันอาการแพ้อาหาร แพ้อากาศ และภูมิแพ้อื่นๆ
อาการเตือน แพ้ขนแมว
- คัน หรือบวมบริเวณเนื้อเยื่อรอบดวงตา หรือจมูก
- ตาอักเสบ
- มีผื่นขึ้นที่หน้า คอ หรือหน้าอกส่วนบน
- คัดจมูก น้ำมูกไหล
- จาม ระคายคอ
- บางครั้งหายใจผิดปกติ
ทั้งนี้ อาการอาจแตกต่างไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการแพ้
กลุ่มเสี่ยงแพ้ขนแมว
ผู้ป่วยโรคหอบหืด เป็นกลุ่มที่ต้องคอยระวัง และหลีกเลี่ยงการสัมผัสแมว เนื่องจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้จากขนแมว อาจทำให้เกิดการกำเริบของโรคหิดเฉียบพลัน หรือเกิดเป็นโรคหืดเรื้อรังได้
วิธีป้องกันอาการแพ้ขนแมว
ศ.ดร. พญ.อรพรรณ โพชนุกูล กุมารแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา ระบุถึงวิธีป้องกัน และหลีกเลี่ยงการเกิดอาการแพ้ขนแมว รวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ภายในบ้าน เอาไว้ ดังนี้
- เลี้ยงโดยให้แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ อยู่นอกบริเวณบ้าน ถ้าไม่สามารถทำได้ ควรแยกให้นอนคนละห้องกับคน ไม่ให้มานอนในห้องนอนเดียวกัน
- อาบน้ำให้แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
- ไม่กอด จูบ หอม สัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิดมากเกินไป แต่ถ้าจะทำ หลังทำเสร็จ ให้รีบล้างมือ ล้างหน้า หรืออาบน้ำทุกครั้งหลังสัมผัส
- ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มี HEPA filter ภายในบ้าน หรือห้องที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่ เพื่อลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์ที่ฟุ้งอยู่ในอากาศ
วิธีรักษาอาการแพ้ขนแมว
อาการแพ้ขนแมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยยาต้านฮีสตามีน ยาพ่นจมูก พ่นเข้าปาก เพื่อป้องกันอาการกำเริบ
แต่หากต้องการเลี้ยงสัตว์ต่อ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด หรือวัคซีนภูมิแพ้ โดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ชนิดแมวหรือสุนัขเข้าไปในร่างกายทีละน้อย เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ ซึ่งอาจทำให้หายขาดจากอาการแพ้ขนสัตว์เลี้ยงได้