กัญชา-คาเฟอีน ทำเสี่ยง "หัวใจเต้นผิดจังหวะ"
หากร่างกายของเราได้รับกัญชาหรือคาเฟอีนในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ได้รับมากเกินไปหรือไม่ถูกวิธี อาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ เพราะจะเพิ่มการบีบตัวของหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นจนอาจจะก่อให้เกิดหัวใจโตขึ้นจนกระทั่งหัวใจอ่อนกำลังลง แล้วทำให้มีโอกาสในการเกิดหัวใจล้มเหลวได้ง่าย จึงควรรีบพบแพทย์ด้านโรคหัวใจทันที เพื่อลดความเสี่ยงต่อหัวใจและร่างกาย
สาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะ
นพ.ยศวีร์ อรรฆยากร อายุรแพทย์โรคหัวใจและสรีระไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ หรือความผิดปกติของการนำไฟฟ้าหัวใจ หรือเกิดทั้งคู่ร่วมกัน ส่งผลให้หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ คือ น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที หรือเต้นเร็วกว่าปกติ คือ มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที หรือหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เต้นๆ หยุดๆ ในผู้ป่วยโรคหัวใจหากหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการและความรุนแรงจะมากกว่า ต้องรีบตรวจรักษาทันที
ปัจจัยเสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะมี 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ
- ปัจจัยภายนอกหัวใจและหลอดเลือด อาทิ
- ภาวะติดเชื้อ ภาวะขาดน้ำ เช่น ท้องเสียรุนแรง เสียเลือดมาก พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ภาวะเครียด
- ความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์
- ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ
- การรับประทานยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ เช่น ยาลดน้ำมูก
- การบริโภคกัญชาในปริมาณที่ไม่เหมาะสม
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
- ปัจจัยภายในหัวใจและหลอดเลือด อาทิ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ โรคลิ้นหัวใจ ภาวะไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว
- โรคความดันโลหิตสูง
เป็นต้น
บริโภคกัญชาไม่เหมาะสม เสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สำหรับกัญชาที่ในขณะนี้ประเทศไทยได้เปิดให้ใช้อย่างเสรี การใช้กัญชาในปริมาณที่ไม่เหมาะสมหรือการใช้ผิดวิธี จะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ซึ่งสารสกัดจากกัญชามี 2 ชนิดหลัก ได้แก่ THC มีส่วนช่วยในการนอนหลับ การเบื่ออาหาร การปวดเรื้อรัง แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะส่งผลต่อสมอง ทำให้เกิดความมึนเมาได้ และ CBD ช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและเป็นสารต้านฤทธิ์เมาของ THC
ผลข้างเคียงของการใช้กัญชาคือ ถ้าใช้ในปริมาณที่มากเกินไปหรือใช้ผิดวิธีเช่น การนำกัญชามาใช้แบบสันทนาการโดยนำมาสูดดม จะทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือเต้นเร็วผิดจังหวะรุนแรงได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่แล้ว สารในกัญชาจะกระตุ้นให้เกิดหลอดเลือดหัวใจหดตัวรุนแรง ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ และในผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วควรระมัดระวังในการใช้กัญชาเช่นกันเพราะโรคประจำหัวใจแต่ละคนอาจจะต้องใช้ยารักษาหลายชนิดในปริมาณที่แตกต่างกัน การใช้กัญชาร่วมด้วยอาจส่งผลต่อยาอื่น ๆ ที่กำลังใช้อยู่ได้
กินกัญชาอย่างไร ถึงจะปลอดภัย
คำแนะนำในการใช้กัญชาให้เหมาะสมในการปรุงอาหาร
- สามารถใช้ได้ไม่เกิน 2 ใบต่อเมนู และไม่ควรเกิน 4 ใบต่อวัน
- ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี
- ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร
- แม้กัญชาจะสามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ปวดเรื้อรัง ผิวหนังอักเสบได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การประเมินและดูแลโดยแพทย์เท่านั้น
- หลังใช้กัญชาไปแล้ว 6 ชั่วโมง ไม่ควรขับรถหรือใช้เครื่องจักร เพราะจะมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ใจสั่น ซึม มึนงง ง่วงนอน ประมาณ 3-4 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน
- หากมีอาการรุนแรง เช่น อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว เจ็บแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หูแว่ว เห็นภาพหลอน ควรรีบพบแพทย์ทันที
เพราะฉะนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้นสำหรับผลิตภัณฑ์ยาต้องใช้เมื่อมีอาการและให้เหมาะสมกับอาการเจ็บป่วย ส่วนผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพรจะใช้เพื่อดูแลสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนใช้งาน และห้ามนำช่อดอกมาใช้ด้วยตนเอง
คาเฟอีนในกาแฟ ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจเช่นกัน
นอกจากการใช้กัญชาที่จะส่งผลต่อหัวใจแล้ว คาเฟอีนถ้าได้รับในปริมาณที่ไม่เหมาะสมก็จะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจได้ เพราะกระตุ้นการหลั่งสารอะดรีนาลีนที่ส่งผลให้หัวใจบีบตัวแรงและเร็วขึ้น มีอาการใจสั่น หงุดหงิด กระวนกระวายใจ หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้
กินกาแฟอย่างไรให้ปลอดภัยต่อหัวใจ
การบริโภคคาเฟอีนที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่ากับกาแฟ 3 - 4 ถ้วยต่อวัน ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารชนิดอื่นที่มีคาเฟอีนผสมอยู่ด้วยในแต่ละวัน โดยกาแฟ 1 ถ้วย จะมีระดับคาเฟอีนอยู่ที่ 100 มิลลิกรัม น้ำชา 1 ถ้วย ระดับคาเฟอีน 75 มิลลิกรัม น้ำอัดลม 1 กระป๋อง ระดับคาเฟอีน 40 มิลลิกรัม และในเครื่องดื่มชูกำลัง 1 กระป๋อง (250 ซีซี) จะมีระดับคาเฟอีนอยู่ที่ 80 มิลลิกรัม
การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ได้แก่
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(12-Lead Electrocardiography, ECG or EKG) เป็นการตรวจมาตรฐานของหัวใจ โดยวัดการทำงานของไฟฟ้าในหัวใจ สามารถตรวจได้ทันที เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะมานานพอก่อนมาถึงโรงพยาบาล และสามารถตรวจสุขภาพหัวใจประจำปีในผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ได้ด้วย
- เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจต่อเนื่อง24 – 48 ชั่วโมง (Holter Monitoring) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 – 48 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะติดเครื่องบันทึกไว้ติดตัวตลอดเวลา เครื่องจะสามารถตรวจพบความผิดปกติของการเต้นของหัวใจได้แม้ไม่มีอาการ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะทุกวันหรือเกือบทุกวันในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่นาน ก่อนมาถึงโรงพยาบาล
- เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดพกพา(Event Recorder) เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่มีลักษณะคล้ายโทรศัพท์มือถือสามารถพกพาไปที่ต่าง ๆ ได้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการให้นำเครื่องมาทาบที่หน้าอกแล้วกดปุ่มบันทึก เครื่องจะบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการแล้วส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์พื้นฐานที่บ้านมายังโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่บ่อย เดือนละประมาณ 2 – 3 ครั้ง มีข้อจำกัดคือผู้ป่วยที่เป็นลมหมดสติกรณีที่เป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะจะไม่สามารถตรวจด้วยวิธีนี้ได้
- เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดฝังใต้ผิวหนัง(Implantable Loop Recorder, ILR) มีขนาดเล็กลักษณะคล้าย USB Flash Drive แพทย์จะฝังไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกด้านซ้าย จากนั้นเครื่องจะบันทึกการเต้นของหัวใจอย่างต่อเนื่อง โดยเก็บคลื่นไฟฟ้าหัวใจเฉพาะช่วงเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะตามที่ได้โปรแกรมไว้ก่อนหน้าหรือเมื่อผู้ป่วยต้องการเท่านั้น เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะนาน ๆ ครั้ง แต่อาการค่อนข้างรุนแรง อาทิ ผู้ป่วยหมดสติแบบไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
- การตรวจวัดสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินสายพาน(EST: Exercise Stress Test) เป็นการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังด้วยการเดินบนสายพานเลื่อน (Treadmill) เพื่อกระตุ้นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขณะออกแรง เหมาะกับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หรือใจสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ และยังช่วยตรวจวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ด้วย
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง(Echocardiogram) สามารถตรวจดูความผิดปกติทางโครงสร้างของหัวใจ ทั้งขนาด รูปร่าง ลักษณะการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจ เช่น ผนังกั้นหัวใจหนาตัวผิดปกติ ห้องหัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วผิดปกติ ผนังกั้นหัวใจรั่ว เป็นต้น
- การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ(Electrophysiology Study) เป็นการตรวจการนำไฟฟ้าของหัวใจเพื่อหาความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ โดยแพทย์จะตรวจการทำงานของระบบไฟฟ้าในหัวใจและกระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นเพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถตรวจหาความผิดปกติด้วยวิธีอื่น ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นได้
แนวทางการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
หลังจากได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเป็นที่เรียบร้อยแล้วแพทย์จะประเมินทางเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้แก่
- การใช้ยาเพื่อปรับจังหวะและอัตราการเต้นของหัวใจ(Antiarrhythmic Drug) ให้ใกล้เคียงระดับปกติ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ลดภาวะแทรกซ้อน และลดความรุนแรงที่จะนำไปสู่การเสียชีวิต
- การช็อกหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า(Electrical Cardioversion) เพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจให้กลับมาเต้นในอัตราที่ปกติ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
- การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ(Radiofrequency Catheter Ablation, RFCA) แพทย์จะใช้สายสวนหัวใจตรวจหาตำแหน่งความผิดปกติภายในหัวใจ จากนั้นจะทำการจี้ด้วยคลื่นวิทยุที่เปลี่ยนจากพลังงานไฟฟ้าไปเป็นพลังงานความร้อนเข้าไปตัดวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติในหัวใจ ปัจจุบันมักใช้ร่วมกับระบบสามมิติ (3D Mapping) เพื่อให้มองเห็นตำแหน่งได้ชัดเจน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ช่วยเพิ่มโอกาสและความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ซึ่งวิธีนี้มีโอกาสรักษาสำเร็จสูงมากกว่า 90% โดยจะต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้านสรีระไฟฟ้าหัวใจที่มีความชำนาญการ
- การผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวร(Permanent Pacemaker) แพทย์จะฝังเครื่องที่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้ไหปลาร้า เพื่อช่วยให้การเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดียิ่งขึ้น วิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ หรือหัวใจหยุดเต้นเป็นช่วง ๆ
- การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดถาวร(Automated Implantable Cardioverter – Defibrillator, AICD) แพทย์จะฝังเครื่องบริเวณหน้าอกเพื่อช่วยตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าหัวใจและช็อกไฟฟ้าหัวใจทันทีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะเพื่อให้จังหวะการเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนกำลัง และผู้ป่วยที่มีหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะ
- การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและช่วยการบีบตัวของหัวใจ(Cardiac Resynchronization Therapy – CRT) เพื่อกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจห้องล่างซ้ายและขวาให้บีบตัวได้สอดคล้องกัน ช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีการบีบตัวของหัวใจน้อยและมีความเสี่ยงหัวใจล้มเหลว
การป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ดีที่สุดคือ
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิก 30-45 นาทีต่อวัน 3-5 วันต่อสัปดาห์
- กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด มันจัด เค็มจัด
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
- ไม่เครียดจนเกินไป
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
- สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวควรตรวจติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ถ้าเกิดรู้สึกว่าหัวใจมีอาการผิดปกติควรเข้ารับการรักษาและปรึกษาอายุรแพทย์โรคหัวใจทันที