“นิโคติน” มีประโยชน์ทางการแพทย์หรือไม่?
นิโคติน หนึ่งในสารประกอบที่คนส่วนใหญ่ทราบกันดีว่ามีอยู่ในบุหรี่ จริงๆ แล้วมีประโยชน์ทางการแพทย์เหมือนกับการใช้กัญชาหรือไม่
นิโคติน กับประโยชน์ทางการแพทย์
นิโคติน ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มาอย่างยาวนานทั่วโลก เช่น ใช้รักษาโรคหอบหืดในอินเดีย ใช้บรรเทาอาการปวดท้องของชาวปาปัวนิวกินี ใช้รักษาอาการปวดฟันและเหงือกในอเมริกากลาง และแม้กระทั่งใช้เป็นยาฆ่าแมลงในบราซิล
ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกค้นพบผลประโยชน์ต่างๆของนิโคติน เพราะเมื่อประมาณ 500 ปีที่แล้วในยุโรป นิโคตินถูกยกย่องว่าเป็นวิธีการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่ทรงพลังและถูกเก็บเป็นความลับมาตลอด จนกระทั่งศตวรรษที่ 20 ที่ผู้คนเริ่มหันมามองนิโคตินในแง่ลบเพราะความเกี่ยวข้องของนิโคตินกับยาสูบและการสูบบุหรี่ ทำให้ถูกตีตราเป็น “สารอันตราย” ไปในที่สุด
นิโคติน ≠ ยาสูบ
อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องแยก “นิโคติน” และ “ยาสูบ” ให้ชัดเจนกว่านี้ เนื่องจากหลักฐานงานวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่าสารทั้งสองมีผลกระทบต่อผู้คนที่แตกต่างกัน จึงกลายเป็นหัวข้อสนทนาใน Global Forum on Nicotine ที่จัดขึ้นในกรุงวอร์ซอ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ นักวิจัย และผู้กำหนดนโยบายได้รวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาด้านสาธารณสุขและแบ่งปันความรู้ใหม่เกี่ยวกับผลกระทบของนิโคตินต่อร่างกายและจิตใจ โดยมี ดร. Paul Newhouse ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ความรู้ความเข้าใจ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ ในสหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์ ดร. Riccardo Polosa ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและรักษาการสูบบุหรี่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยคาตาเนียในอิตาลี ดร. Sudhanshu Patwardhan ผู้ร่วมก่อตั้ง Centre for Health Research and Education แห่งสหราชอาณาจักร และ Michelle Minton นักวิชาการอาวุโสของ Competitive Enterprise Institute ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการพนัน การลดอันตรายจากยาสูบ การทำให้กัญชาถูกกฎหมาย แอลกอฮอล์ และโภชนาการ ร่วมนำเสนอในหัวข้อ “การทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของนิโคติน”
ผู้ร่วมอภิปรายต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในส่วนของศาสตราจารย์ ดร. Polosa และ ดร. Patwardhan ทั้งคู่ทำงานและศึกษาเกี่ยวกับกลยุทธ์การลดอันตรายจากยาสูบทั่วโลก แต่ถึงกระนั้นพวกเขาทั้งสองก็ไม่สามารถปฏิเสธผลประโยชน์ทางการแพทย์ของนิโคติน ดร. Paul Newhouse ใช้เวลากว่า 30 ปีในการทำความเข้าใจบทบาทของตัวรับนิโคทินิคในสมองและบทบาทในการทำงานของสมอง รวมถึงศึกษาศักยภาพของการใช้นิโคตินในการรักษาความผิดปกติของสมอง อย่างโรคอัลไซเมอร์และโรคสมาธิสั้น (ADHD)
“เรายังคงต้องศึกษาวิธีการทำงานของระบบนิโคทินิคในสมองมากกว่านี้ ทั้งนี้เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการใช้นิโคตินที่สกัดจากยาสูบเพื่อช่วยรักษาความจำ จากการศึกษา MIND หรือ Memory Improvement with Nicotine Dosing ซึ่งเป็นการศึกษา 42 แห่งในสหรัฐอเมริกาที่รักษาผู้ป่วยที่มีความจำเสื่อมในระยะเริ่มต้น เรียกว่าภาวะ prodromal ของโรคอัลไซเมอร์ เรากำลังศึกษาผลกระทบของนิโคตินในโรคทางอารมณ์ โดยการศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) เบื้องต้นเราค้นพบว่าเมื่อเติมนิโคตินลงในยาแก้ซึมเศร้า มันสามารถช่วยปรับปรุงอารมณ์และการทำงานของสมองได้อย่างรวดเร็ว” ดร. Newhouse กล่าว
งานวิจัยเหล่านี้ช่วยสนับสนุนการใช้นิโคตินสำหรับรักษาโรคต่างๆ มากขึ้น รวมถึงโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสันตามที่กล่าวข้างต้น โรคลำไส้อักเสบ เช่น โรคโครห์นแลโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง อีกทั้งนิโคตินยังถูกนำมาใช้สำหรับการควบคุมน้ำหนักและโรคอ้วน และสภาวะทางจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและโรคจิตเภท
ผู้อภิปรายทิ้งท้ายได้อย่างน่าสนใจว่า “วิทยาศาสตร์และงานวิจัยใหม่ๆ สามารถเปลี่ยนความเข้าใจและการรับรู้ในปัจจุบันได้ เช่นเดียวกับการศึกษานี้ที่จะช่วยให้คนเข้าใจนิโคตินได้มากขึ้น”
องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) เคยระบุว่า นิโคตินที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นสารเสพติดและเป็นสาเหตุทำให้ผู้คนไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ อย่างไรก็ตาม นิโคตินไม่ได้ส่งผลเสียที่ร้ายแรงโดยตรงเมื่อเทียบกับสารเคมีหลายร้อยชนิดที่รวมอยู่ในควันบุหรี่ที่เป็นภัยต่อสุขภาพที่แท้จริง ส่วนผสมที่เป็นพิษของสารเคมีเหล่านี้เป็นต้นเหตุของโรคร้ายแรง เช่น โรคปอดและโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย
ในประเทศไทยมีกฎระเบียบ และข้อบังคับการใช้ยาสูบที่เข้มงวดระดับโลก แต่การเปิดรับกัญชาเพื่อรักษาโรคต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็ง อาการเบื่ออาหาร และภาวะสุขภาพจิตต่างๆ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการยอมเปิดใจให้กับข้อมูลใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ช่วยให้เราค้นพบวิธีการรักษารูปแบบใหม่ที่เคยถูกปิดกั้นมาอย่างยาวนานได้เช่นกัน