เด็กโตไว อย่าปล่อยผ่าน เสี่ยง “ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย”
“เด็กสมัยนี้ โตไวมาก” คือคำที่ผู้ใหญ่หลายท่านมักใช้ทักทายลูกหลาน แต่รู้หรือไม่ว่า หากเด็กมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระมากกว่าปกติ ถือเป็นสัญญาณเสี่ยง “ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย” ที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการร่างกาย และสภาพจิตใจในอนาคต!
ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย คืออะไร?
แพทย์หญิง ปราญชลี ศรีกาญจนวัชร แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกุมารเวชศาสตร์ เฉพาะทางต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) ระบุว่า ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย คือ ภาวะที่เด็กโตเร็วกว่าปกติ (Precocious Puberty) เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศมากเกินไป อาทิเช่น โดยปกติเด็กผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่วัยสาวเมื่ออายุ 8-13 ปี แต่ผู้ที่มีภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย จะมีไตเต้านมก่อนอายุ 8 ปี หรือมีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ปี 6 เดือน และในเด็กผู้ชายจะเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มเมื่ออายุ 9-14 ปี แต่ผู้ที่มีภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย จะมีอัณฑะขนาดใหญ่ก่อนอายุ 9 ปี รวมถึงมีขนรักแร้ หนวด หรือกลิ่นตัวร่วมด้วย ซึ่งแม้ว่าจะสามารถพบได้ทุกเพศ แต่มักพบในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย 8-20 เท่า
สาเหตุและปัจจัยในการเกิดภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย
- กรรมพันธุ์ พ่อแม่มีประวัติเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็ว อาทิ เสียงแตกเร็ว หรือมีประจำเดือนเร็ว
- เด็กที่มีน้ำหนักมาก หรือเกินเกณฑ์ จากการทานของกรอบ ทอด มัน อาหารไขมันสูง อาหารจานด่วน
- มีความผิดปกติในสมอง อาทิ ก้อนเนื้องอก สมองเคยขาดออกซิเจน หรือเคยได้รับการฉายรังสี
อาการบ่งชี้ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย
เด็กผู้หญิง
- มีไตเต้านมก่อนอายุ 8 ปี
- มีขนที่อวัยวะเพศและรักแร้
- มีสิว ผิวหน้ามัน และมีกลิ่นตัว
- สะโพกผาย
- มีประจำเดือนหรือตกขาวก่อนอายุ 9 ปี 6 เดือน
- ส่วนสูงเพิ่มขึ้นรวดเร็วผิดปกติ
เด็กผู้ชาย
- ลูกอัณฑะและองคชาตขยายตัว
- มีขนที่อวัยวะเพศและรักแร้
- มีสิว ผิวหน้ามัน และมีกลิ่นตัว
- ส่วนสูงเพิ่มขึ้นรวดเร็วผิดปกติ
ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยจากการที่มีฮอร์โมนเพศสูงกว่าปกติ จะส่งผลให้การเจริญเติบโตในวัยเด็กสั้นลง ส่งผลให้เมื่อโตจริงจะตัวเตี้ย อีกทั้งด้านจิตใจและอารมณ์อาจส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว รุนแรงกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ดังนั้น หากสังเกตพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับบุตรหลาน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกตินำไปสู่การรักษาที่ตรงจุดต่อไป