ความท้าทายในการลดอัตราคนสูบบุหรี่

ความท้าทายในการลดอัตราคนสูบบุหรี่

ความท้าทายในการลดอัตราคนสูบบุหรี่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกระแสการปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ทำให้สังคมตื่นตัวมากขึ้นถึงปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ด้านสาธารณสุข แต่ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละกว่า 70,000 คนกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร นั่นคือปัญหาการสูบบุหรี่และการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่

หลายทศวรรษที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่าการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพทั้งของตัวผู้สูบบุหรี่เองและบุคคลที่อยู่รอบด้าน การสูดรับควันบุหรี่ที่มีสารพิษกว่า 100 ชนิดเข้าร่างกายทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบแก่บริเวณที่สัมผัส จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ อาทิเช่น โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เป็นต้น

จากการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขในปี พ.ศ. 2560 พบว่าค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับยาสูบคาดว่าอย่างน้อย 102,526 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9,583 บาทต่อผู้สูบบุหรี่หนึ่งคน ทำให้เกิดความสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการลดลงของจำนวนผู้สูบบุหรี่ในไทยก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในระดับประเทศ แผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบชาติฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559 – 2562) ตั้งเป้าหมายอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยไว้ที่ 16.7% แต่จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2565 พบว่าอัตราการสูบบุหรี่อยู่ที่ 17.4% ซึ่งเลยปี 2562 มา 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังพลาดเป้า ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องการลดอัตราการสูบบุหรี่จึงเป็นเรื่องท้าทายในวงการสาธารณสุขที่จะต้องมีนโยบายและแนวทางการรักษา ปรับพฤติกรรมให้เหมาะกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565-2570 ที่จะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้ไม่เกิน 14%

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภาแห่งประเทศไทย เผยว่า ในฐานะแพทย์ระบบการหายใจมีหน้าที่โดยตรงต้องดูแลผู้ป่วยโรคเหตุสูบบุหรี่ ซึ่งนอกจากให้การบำบัดอาการโรคแล้ว บทบาทสำคัญที่สุดคือการปรับแก้ผู้ป่วยให้ลดเลิกการสูบบุหรี่ แต่ตลอดมาทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าแพทย์จะทุ่มเทอย่างเต็มที่อย่างไร ก็สามารถช่วยได้ไม่ถึงร้อยละ 10 ด้วยความรู้ที่ว่าการเสพติดบุหรี่นั้นเป็นผลจากเสพติดนิโคตินจากใบยาสูบ แม้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จะได้ให้คำแนะนำให้ทดลองใช้เวชภัณฑ์นิโคติน เช่นแผ่นนิโคตินแปะผิวหนัง เคี้ยวหมากฝรั่งนิโคติน แต่ก็ได้ผลน้อยมาก เพราะผู้สูบบุหรี่ไม่ได้เสพติดเพียงนิโคติน แต่ติดรสชาติ ควันจากใบยาสูบ และติดพฤติกรรมท่วงท่าหยิบจับบุหรี่สูบ

ด้านรองศาสตราจารย์ พญ.นิรัชร์ เลิศประเสริฐสุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยาโรคปอด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่เสี่ยงให้เกิดมะเร็งปอดก็คือควันบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูบบุหรี่ หรือผู้รับควันบุหรี่มือสอง การลดความเสี่ยงทำได้โดยการเลี่ยงสูดรับควันบุหรี่ซึ่งมีสารก่อมะเร็งกว่า 70 ชนิด ได้แก่ อะซีทอลดีไฮด์ เบนซีน โครเมียม แคดเมียม เป็นต้น ขณะสูบบุหรี่ สารนิโคตินเป็นสารที่ก่อให้เกิดการเสพติด ไปมีผลต่อสมองโดยกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเอพิเนฟรีนและสารโดปามีน ซึ่งจะส่งผลให้คลายความกังวล แม้สารนิโคตินจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพสำหรับคนบางกลุ่มเช่น เยาวชน สตรีมีครรภ์ กลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและเบาหวาน แต่สาเหตุหลักของโรคที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่คือ สารอันตรายที่เกิดจากการเผาไหม้ของยาสูบ

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สมชัย กล่าวเสริมว่า “ต้องบอกก่อนว่าบุหรี่ทุกชนิดเป็นอันตราย แต่อันตรายมากน้อยอย่างไรเป็นอีกบริบท เมื่อมีการผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (บุหรี่ไฟฟ้า) และบุหรี่มีใบยาสูบชนิดอุ่นไม่เผา โดยอาศัยแนวคิดตรรกะลดสารพิษในควันบุหรี่ที่เป็นสาเหตุของโรคร้าย โดยไม่ให้มีการเผาไหม้ของยาสูบ แต่ก็ยังคงมีข้อมีข้อถกเถียงถึงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล่านี้ เพราะการเสพติดบุหรี่เกิดจากการเสพติดนิโคติน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงยังจำเป็นต้องให้นิโคตินตามที่ร่างกายต้องการ ดังนั้น ผลด้านการลดเลิกบุหรี่และการติดนิโคตินจึงยังต้องติดตามข้อมูลต่อไป ทั้งนี้ ผู้สูบต้องยึดมั่นความตั้งใจเลิกบุหรี่ และต้องมีการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์”

การดูแลสุขภาพผู้สูบบุหรี่และการลดอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศไทยยังเป็นสิ่งท้าทาย ที่ผ่านมาได้มีมาตรการทางกฎระเบียบที่เข้มงวด การขึ้นภาษีบุหรี่และการเดินหน้ารณรงค์ของเครือข่ายการควบคุมยาสูบที่ทำงานกันอย่างเข้มแข็งซึ่งสามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่มาได้ระดับหนึ่ง เพียงแต่หากต้องการบรรลุเป้าหมายการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ อาจจะต้องพิจารณาแนวทางใหม่ๆ เข้ามาเสริมและทำให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับมาตรการที่กำลังทำอยู่ ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป ความคิดและพฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไป รวมทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ การวางกรอบนโยบายเพื่อให้เอื้อต่อวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับหลักฐานทางการแพทย์ใหม่ๆ เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook