5 โรคอันตรายที่มาจากอาการ "นอนไม่หลับ"
ปัญหา นอนไม่หลับ อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตจากการนอนน้อยเกินไป
นอนไม่หลับมากขนาดไหน ถึงเรียกว่ามีอาการนอนไม่หลับจริงๆ
รศ.นพ. นฤชา จิรกาลวสาน กรรมการบริหารศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า อาการนอนไม่หลับอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนในบางครั้ง แต่หากจะเรียกว่ามีอาการนอนไม่หลับจริงๆ คือการที่มีอาการนอนไม่หลับมากกว่า 3 วันใน 1 สัปดาห์
เมื่อนอนไม่หลับ ตื่นมาตอนเช้าอาจรู้สึกไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า และอาจมีอาการอื่นๆ ทางร่างกายได้ เช่น ตื่นขึ้นมาแล้วปวดศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องผูก ท้องเสีย และอื่นๆ อีกมากมาย
สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ
- เครียด
- มีภาวะทางจิตเวช เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า
- สุขอนามัยในการนอนไม่ดี เช่น ดูทีวี หรือเล่นมือถือที่ทำให้ดวงตาโดนแสงตลอดเวลา จึงทำให้นอนไม่หลับ เพราะแสงลดการหลั่งเมลาโทนิน ทำให้นอนได้ยาก หรือการดื่มกาแฟก่อนนอน หรือใกล้เวลานอนมากเกินไป เพราะคาเฟอีนสามารถอยู่ในร่างกายได้นานถึง 6 ชั่วโมง
- โรคทางกาย หรือยาที่ใช้ เช่น ยาแก้แพ้ หรือยาความดันบางตัวอาจทำให้นอนหลับยาก แม้กระทั่งแอลกอฮอล์ที่เหมือนจะทำให้ง่วงนอน แต่จริงๆ แล้วทำให้นอนหลับๆ ตื่นๆ ทำให้นอนหลับไม่ได้คุณภาพมากกว่า
- นอนไม่หลับปฐมภูมิ ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน
5 โรคอันตรายที่มาจากอาการ "นอนไม่หลับ"
-
โรคมะเร็งลำไส้
มีการศึกษาและวิจัยว่าในคน 1,240 คน มีคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชม. ถึง 47% จะมีอาการของมะเร็งลำไส้ มากกว่าคนที่นอนหลับอย่างน้อย 7 ชม.ขึ้นไป ส่วนใหญ่จุดเริ่มต้นของโรคนี้มาจากการนอนดึก นอนดึกตื่นเช้า กินอาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ ไม่ค่อยออกกำลังกาย จนทำให้เกิดความเสื่อมของระบบภายใน โดยเฉพาะลำไส้ จนกลายเป็นลำไส้อักเสบและลุกลามจนกลายเป็นมะเร็งลำไส้ไปในที่สุด
-
โรคหลอดเลือดหัวใจ
หากเรานอนไม่หลับ ไม่ค่อยได้นอน หรือนอนไม่ค่อยพอ สารโปรตีนที่สะสมมากขึ้นในหัวใจเมื่อเราตื่นโดยธรรมชาติจะเข้าไปเกาะที่หลอดเลือดหัวใจมากขึ้น จนทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดหัวใจได้
-
โรคเบาหวาน
เมื่อนอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ ระดับกลูโคสในเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งระดับอินซูลินในเลือด ก็สูงขึ้นไปด้วย ในการวิจัยบางส่วนพบว่า คนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว จะเกิดภาวะร่างกายดื้ออินซูลินจากการนอนไม่พออีกด้วย
-
สมรรถภาพทางเพศลดลง
การนอนไม่หลับทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำลง ทำให้ความต้องการทางเพศลดต่ำลงไปด้วย ผู้ที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศส่วนใหญ่ มักจะมีสาเหตุมาจากการพักผ่อนน้อย หรือนอนไม่หลับเลยทั้งคืน
-
โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง
หากคุณมีอาการนอนไม่หลับมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หมายความว่าคุณกำลังเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ซึ่งส่งผลต่อระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายมากมาย
วิธีลดความเสี่ยงอาการนอนไม่หลับ
- หยุดเล่นมือถือ ไม่ดูทีวีก่อนเข้านอนมากกว่า 30 นาที
- ปรับสภาพห้องนอนให้น่านอน สะอาด ห้องไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป หรี่แสงไฟหรือปิดไฟก่อนนอน เป็นต้น
- หยุดดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ก่อนเข้านอน 4-6 ชั่วโมง
- ไม่รับประทานอาหารก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
- เปลี่ยนยาที่ใช้บ่อย หากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงทำให้นอนไม่หลับ
- ถ้าเข้านอนแล้วนอนไม่หลับเกินกว่า 30 นาที ควรลุกขึ้นมาทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือที่มีเนื้อหาผ่อนคลาย นั่งสมาธิ 10-15 นาที แล้วค่อยนอนต่อ
- ไม่ออกกำลังกายก่อนเข้านอน 1-2 ชั่วโมง
- ไม่ควรอาบน้ำใกล้เวลานอนมากเกินไป ควรอาบน้ำก่อนเข้านอน 1-2 ชั่วโมง