สาเหตุพยาธิขึ้นสมอง วิธีป้องกัน รักษา ทำอย่างไร

พยาธิขึ้นสมอง ... กับอาหารสุกๆดิบๆ

พยาธิขึ้นสมอง ... กับอาหารสุกๆดิบๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รศ.ดร.ประภาทิพย์ เอี่ยมโสภณา  
ภาควิชาปรสิตวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

จากข่าวดังทางหน้าหนังสือพิมพ์ ที่มีเด็กสาวป่วยด้วยโรคสมองอักเสบแล้วกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุมาจากพยาธิในส้มตำปูปลาร้านั้น สร้างความสงสัยแก่ประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะชาวชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ ในด้านอาหารการกินที่มักเป็นพืชและสัตว์ที่มีอยู่ตามแหล่งธรรมชาติของท้องถิ่น ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังนิยมรับประทานอาหารดิบ ปิ้งย่าง  หรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ  เช่น ลาบ ก้อย พล่า ยำ น้ำตก อ่อม หมก ฯลฯ อาหารดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการติดโรคและเกิดโรคจากพยาธิหลายชนิด ซึ่งมีระยะติดต่ออยู่ในเนื้อสัตว์หรือปนเปื้อนมากับผักสดที่นำมาบริโภค  

ในประเทศไทยนั้น พยาธิจากอาหารที่เป็นสาเหตุสำคัญของ “โรคพยาธิขึ้นสมองในคน” ทำให้เกิดโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนถึงขั้นเสียชีวิต ที่พบบ่อย ๆ มี 2 ชนิด ได้แก่

1. พยาธิหอยโข่ง (Angiostrongylus cantonensis)

พยาธิหอยโข่ง หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “พยาธิปอดหนู” เป็นพยาธิตัวกลมที่เป็นสาเหตุของโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคน ซึ่งพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติการกินเนื้อหอยโข่ง หอยเชอรี่ หรือเนื้อสัตว์จำพวก กุ้ง ปู กบ และตะกวด ปรุงแบบดิบๆหรือดิบ ๆ สุกๆ เช่น นำมาทำก้อย ยำ ลาบ พล่า หรือการกินพืช ผักสด หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนด้วยตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิหอยโข่ง   

พยาธิหอยโข่งนั้น  โดยธรรมชาติเป็นพยาธิของหนู  เช่น หนูนา หนูท่อ หนูป่า พยาธิตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียจะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู  เมื่อหนูถ่ายอุจจาระจะมีพยาธิตัวอ่อนปะปนมา เมื่อหอย (ทั้งหอยบก หอยน้ำจืด และตัวทาก) กินตัวอ่อนของพยาธิหรือตัวอ่อนของพยาธิไชเข้าตัวหอยจะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อขดตัวอยู่ในกล้ามเนื้อหรืออวัยวะของหอยและเมื่อคนนำหอยมารับประทานโดยไม่ทำให้สุกก่อน ตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิจะเข้าสู่ร่างกาย ไปตามกระแสเลือด แล้วเคลื่อนที่เข้าสู่สมอง

พยาธิ เมื่อเข้าไปในสมองแล้ว จะเจริญเติบโตและเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการอักเสบของสมองและเยื่อหุ้มสมอง ผู้ป่วยจะมีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอสิโนฟิล (eosinophil)ขึ้นสูงในน้ำไขสันหลัง ผู้ป่วยบางรายอาจหมดสติได้ บ่อยครั้งที่พยาธิเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในลูกตา ทำให้เยื่อบุภายในตาฉีกขาดและมีเลือดออก อาจจะทำให้ตาบอดได้   การรับประทานเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่ปรุงไม่สุก อาทิ กุ้งฝอย ปู กบ ตะกวด ซึ่งกินหอยที่มีพยาธิ   ก็มีโอกาสได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน

สัญญาณอันตราย

โดยทั่วไป ผู้ติดโรคพยาธิหอยโข่งมีตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิที่กินเข้าไป รวมทั้งภาวะภูมิคุ้มกันและสุขภาพพลานามัยของผู้ได้รับพยาธิ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็งและหลังแข็ง บางรายอาจพบอาการอัมพาตบางส่วนของแขน ขา หรือใบหน้าได้

วิธีรักษา

การรักษาโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากโรคพยาธิหอยโข่ง นั้น เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เพราะปัจจุบันไม่มียาชนิดใดที่เฉพาะเจาะจงในการรักษาโรคพยาธิหอยโข่ง ถ้าผู้ป่วยได้รับตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิเข้าไปไม่มากอาการของโรคจะหายได้เอง  การให้ยาแก้ปวด และการเจาะหลังเพื่อเอาน้ำไขสันหลังออกเป็นการลดความดันในสมองจะช่วยลดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงในผู้ป่วยได้ การใช้ยาจำพวกสตีรอยด์ (steroid) จะช่วยลดการอักเสบของสมองในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

เราสามารถป้องกันไม่ให้ติดโรคจากพยาธิหอยโข่งได้โดย

  • งดกินเนื้อหอยทั้งหอยน้ำจืดและหอยบกดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ
  • กินแต่เนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้ว
  • ผักสดที่รับประทานต้องล้างให้สะอาด
  • หากต้องดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องดื่มน้ำที่ต้มเดือดแล้ว


2. พยาธิตัวจี๊ด
  (Gnathostoma spinigerum)   

พยาธิตัวจี๊ดเป็นพยาธิตัวกลมของสัตว์จำพวก สุนัข แมว สิงโต และเสือ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดโรคพยาธิตัวจี๊ดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ เช่น ปลาน้ำจืด กบ งู เป็ด ไก่ นก ที่ปิ้งหรือย่างไม่สุก หรือปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ  ผู้ป่วยที่ติดโรคพยาธิตัวจี๊ดมักจะมีการบวมเคลื่อนที่โดยเฉพาะที่ผิวหนัง เนื่องจากพยาธิตัวอ่อนที่เข้าไปอยู่ใต้ผิวหนังมีการเคลื่อนไหว  บ่อยครั้งที่พบพยาธิเคลื่อนที่เข้าไปในสมอง ทำให้เกิดอาการอักเสบ มีเลือดออก และเกิดอาการทางประสาท เป็นอัมพาต ชักและหมดสติ บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต

พยาธิตัวจี๊ดระยะตัวเต็มวัยนั้นตามปกติจะพบในผนังกระเพาะอาหารของสุนัข แมว สิงโต เสือ  ไข่พยาธิตัวจี๊ดจะปะปนออกมากับอุจจาระของสัตว์เหล่านี้ ออกสู่สิ่งแวดล้อม  เมื่อไข่ถูกชะพาลงในน้ำ ตัวอ่อนของพยาธิจะฟักออกจากไข่ เมื่อถูกกินโดยกุ้งไร ตัวอ่อนของพยาธิจะเจริญในกุ้งไร เมื่อกุ้งไรถูกกินโดยปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาช่อน และปลาไหล พยาธิจะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อฝังตัวเป็นซีสต์อยู่ในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อของของสัตว์เหล่านี้   

หากคนกินเนื้อปลาที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดซึ่งปรุงไม่สุก หรือกินเนื้อกบ งู เป็ด ไก่ นก ที่เผอิญไปกินตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ด ตัวอ่อนที่ฝังตัวเป็นซีสต์อยู่ในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อของสัตว์เหล่านี้จะไชทะลุผนังกระเพาะอาหาร เคลื่อนที่ไปตามอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย 

ในรายที่ตัวพยาธิไชเข้าใต้ผิวหนังจะเกิดอาการบวมแดงเจ็บจี๊ด ๆ  พยาธิบางตัวเคลื่อนย้ายที่อยู่ใต้ผิวหนังทำให้เกิดการบวมเคลื่อนที่ ซึ่งพบได้บ่อยบริเวณแขน ขา ใบหน้า เปลือกตา หน้าท้อง และเท้า ในรายที่พยาธิเคลื่อนที่เข้าสู่สมอง จะทำให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง พบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอสิโนฟิลสูงขึ้นในน้ำไขสันหลัง  จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง  โคมาและอาจเสียชีวิต  บางรายเมื่อพยาธิตัวจี๊ดไชเข้าไปในลูกตาก็จะทำให้ตาบอดได้  ยังไม่มียาใดที่ใช้รักษาโรคพยาธิตัวจี๊ดโดยเฉพาะ การรักษาให้รับประทานยาอัลเบนดาโซล (Albendazole) ขนาด 400 มิลลิกรัม นาน 21 วัน ให้ผลการรักษาประมาณร้อยละ 94

 

การป้องกันที่ดีที่สุด คือ

การหลีกเหลี่ยงการรับประทานเนื้อปลาและเนื้อสัตว์ทุกชนิดแบบสุกๆ ดิบๆ

โรคพยาธิที่เกิดจากการกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ  แม้เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยเหมือนโรคติดเชื้อชนิดอื่นๆ แต่ก็เป็นโรคที่บั่นทอนสุขภาพ และทำให้เกิดโรครุนแรงและเสียชีวิตได้ เพียงแค่การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนสูงเท่านั้น ความเสี่ยงในการเกิดโรคพยาธิจากอาหารก็ไม่สามารถมาย่ำกรายเราได้ง่าย ๆ อย่างแน่นอนค่ะ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook