“เมลาโทนิน” ช่วยให้หลับสบาย แต่ปลอดภัยต่อร่างกายจริงหรือ
ใครที่มีปัญหานอนไม่หลับ อาจจะคุ้นเคยกับ “เมลาโทนิน” เป็นอย่างดี แม้จะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่หากกินเป็นประจำ จะส่งผลไม่ดีต่อร่างกายในอนาคตหรือไม่ ปลอดภัยมากแค่ไหน
เมลาโทนิน ตัวช่วยของคนนอนไม่หลับ
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย จากเฟซบุ๊กเพจ PleaseHealth Books ระบุว่า เมลาโทนิน (Melatonin) ในบางประเทศจัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่หาซื้อได้ง่ายตามอินเตอร์เน็ต และยังมีการทำเป็นรูปแบบเยลลี่รสหวานรับประทานง่ายเหมือนขนม
เมลาโทนิน คืออะไร
เมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่ต่อมไพเนียลในสมองของเราหลั่งออกมาตามธรรมชาติในยามค่ำคืน เพื่อให้เรารู้สึกง่วงและนอนหลับพักผ่อน ร่างกายได้มีเวลาซ่อมแซมตัวเอง แต่ในบางสถานการณ์ เช่น การเดินทางเปลี่ยนไทม์โซน การทำงานเป็นกะ รวมถึงอายุที่มากขึ้น อาจส่งผลรบกวนการหลั่งของเมลาโทนิน ทำให้มีอาการนอนไม่หลับได้
เมลาโทนิน ใช้ได้กับใครบ้าง?
บางประเทศจัดให้เมลาโทนินเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ในบางประเทศรวมถึงไทยเรา จัดเมลาโทนินเป็นยา ที่ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ โดยมีข้อบ่งชี้เช่น นอนไม่หลับจากการทำงานเป็นกะ นอนไม่หลับจากการเดินทาง (jet lag) หรือโรคของความผิดปกติจากการนอนอื่นๆ
การใช้เมลาโทนินในคนทั่วไป
จากข้อมูลในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีเทรนด์การใช้เมลาโทนินเพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 4-17 ปี มีการใช้เมลาโทนินเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า และยังพบการใช้เมลาโทนินในโดสที่สูงคือ มากกว่า 5 มิลลิกรัม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว โดสที่ใช้เริ่มต้นโดยทั่วไปคือ 2-5 มิลลิกรัม และบางงานวิจัยพบว่า สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการปรับนาฬิกาชีวภาพ โดสเพียง 0.5 มิลลิกรัมก็เพียงพอแล้ว
เทรนด์การซื้อเมลาโทนินกินเองในปริมาณที่จัดว่าสูงนี้ จึงนำมาสู่ความวิตกกังวลถึงผลข้างเคียงต่างๆ และผลในระยะยาวที่ยังไม่มีการศึกษาเพียงพอที่จะสรุป
ผลข้างเคียงและความเสี่ยงต่างๆ จากการกินอาหารเสริม หรือยาเมลาโทนิน
การซื้อเมลาโทนินหรือเยลลี่ง่วงนอนที่มีส่วนผสมของเมลาโทนินมารับประทานเองนั้น จัดเป็นความเสี่ยง โดยมีผลข้างเคียงที่พบได้คือ
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- ง่วงระหว่างวัน
- ฝันร้าย
- การศึกษาในผู้ป่วยที่รับประทานยาลดความดันโลหิตว่าอาจส่งผลเพิ่มความดันโลหิตได้ หากรับประทานยาร่วมกับเมลาโทนิน
ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาวนั้น ยังไม่มีงานวิจัยที่จะสรุปได้ว่ามีความปลอดภัย 100% ในการใช้ระยะยาวในปริมาณสูงสำหรับผู้ที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
สรุปว่า แม้เมลาโทนินจะเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายเราผลิตเองโดยธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าการนำมารับประทานเสริมจะปลอดภัยไร้ผลข้างเคียง
วิธีลดปัญหานอนไม่หลับ โดยไม่ต้องพึ่งเมลาโทนิน
สำหรับผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ ควรใช้วิธีปรับพฤติกรรมโดย
- เลี่ยงการทำงานที่เครียด การใช้มือถือหรือแท็บเล็ตช่วง 2 ชั่วโมงก่อนนอน
- เลี่ยงการใช้แสงสว่างมากในห้องนอน เช่น ไฟนีออน
- ห้องนอนควรเงียบ เย็น และมืดสนิท ไม่ควรใช้ห้องนอนทำกิจกรรมอื่นนอกจากการนอน
- เลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม หลังเที่ยงวัน
- เลี่ยงการออกกำลังหนักในช่วงก่อนนอน
- พยายามเข้านอนและตื่นให้เป็นเวลาสม่ำเสมอในแต่ละวัน
- ตอนเช้าพยายามออกกำลังกลางแจ้ง ให้ร่างกายได้เจอแสงแดดตามธรรมชาติ
ถ้าอาการนอนไม่หลับยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และหากจำเป็นต้องใช้เมลาโทนิน ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์