กระเทียม-หอมใหญ่ ช่วยลดไขมันในเลือดได้จริงหรือ
กระเทียมสด และหอมหัวใหญ่ มีประโยชน์ต่อร่างกายจากวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ แต่จะช่วยลดไขมันในเลือดได้จริงหรือไม่
รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ ประธานหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การกินกระเทียมสด และหอมหัวใหญ่ เพื่อช่วยลดไขมันในเลือดนั้น มีข้อมูลบางส่วนที่ถูกต้องอยู่บ้าง แต่ในส่วนของรายละเอียดอาจยังมีไม่ครบ โดยจริงๆ แล้วมีข้อควรระวังบางอย่างที่อาหารบางอย่างอาจส่งผลต่อผู้ป่วยบางโรคอยู่ด้วย
สำหรับผู้ป่วยที่มีปริมาณไขมันในเลือดสูงมาก มากกว่า 190 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โดยทั่วไปแล้วควรพบแพทย์มากกว่าที่จะหาผักผลไม้หรือหายารับประทานเอง
ประโยชน์ของ กระเทียม-หอมหัวใหญ่
กระเทียมเป็นพืชสมุนไพรที่มีการศึกษาในเรื่องของประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย จากหลายๆ งานการศึกษา เมื่อนำมาวิเคราะห์รวมกันจะพบว่า การกินกระเทียมสามารถช่วยลดไขมันในเลือดได้จริง เช่นเดียวกันกับหอมหัวใหญ่ เพราะเป็นพืชในตระกูลเดียวกัน แม้ว่าข้อมูลการศึกษาอาจจะน้อยกว่ากระเทียม แต่ก็ยังพบข้อมูลว่าหอมหัวใหญ่สามารถช่วยลดไขมันในเลือดได้จริงเช่นกัน
ปริมาณกระเทียม หอมหัวใหญ่ ที่ควรกิน เพื่อช่วยลดไขมันในเลือด
ส่วนใหญ่แล้วในรายงานการศึกษาจะระบุว่า หากจะกินกระเทียมสดเพื่อจุดประสงค์ช่วยลดไขมันในเลือด ควรกินราว 5 กรัม หรือราวๆ 1 ช้อนชาต่อวัน ส่วนหอมหัวใหญ่ ปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทานอยู่ที่ ครึ่งหัว ต่อวัน
ข้อควรระวัง ในการกินกระเทียม หอมหัวใหญ่ เพื่อช่วยลดไขมันในเลือด
กระเทียม มีคุณสมบัติทำให้ลิ่มเลือดไม่แข็งตัว หรือละลาย ในกรณีที่กินยาในกลุ่มที่มีฤทธิ์ละลายลิ่มเลือดอยู่แล้ว การกินกระเทียมอาจไปเสริมฤทธิ์ ทำให้ยาละลายลิ่มเลือดมีคุณสมบัติมากขึ้น อาจเกิดอันตราย ทำให้เลือดออกได้ง่ายมากขึ้นไปด้วย
ในทางกลับกัน นอกจากการเสริมฤทธิ์ให้กับยาบางชนิดโดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว กระเทียมยังอาจยับยั้งการดูดซึมของยาบางชนิดที่คนทั่วไปอาจจะกินอยู่ เช่น ยารักษาโรควัณโรคบางชนิด ยานอนหลับบางชนิด ยารักษาเชื้อราบางชนิด เป็นต้น
ดังนั้นการกินกระเทียม หากกำลังอยู่ในระหว่างการรับประทานยาตัวอื่นอยู่ อาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวว่าสามารถกินได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหนถึงจะเหมาะสม
กระเทียม หอมหัวใหญ่ ≠ ยา
ในส่วนของคนที่มีไขมันในเลือดสูงมากจนผิดปกติ สามารถแจ้งแพทย์ได้ว่าต้องการรับประทานกระเทียมและหอมหัวใหญ่เพื่อช่วยไขมันในเลือดสูง แต่ต้องไม่ให้กระเทียมไปรบกวนประสิทธิภาพของยาตัวอื่นๆ ที่ต้องกินควบคู่กันไป หรือยาที่รักษาโรคอื่นๆ อยู่ด้วย จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนลงมือกินกระเทียมและหอมหัวใหญ่ด้วยตัวเอง
แต่สำหรับคนทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรงดี แต่ตรวจพบเจอระหว่างตรวจสุขภาพประจำปีว่าไขมันในเลือดสูง และไม่ได้กินยาใดๆ หรือไม่มีข้อบ่งชี้ในการรับประทานยาอื่นเป็นประจำอยู่แล้ว ก็สามารถรับประทานกระเทียมได้
นอกจากนี้ การรับประทานกระเทียมและหอมหัวใหญ่เพียงอย่างเดียว ไม่อาจช่วยลดไขมันในเลือดได้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร และปรับวิถีชีวิตของตัวเองมากขึ้น เช่น
- ควบคุมน้ำหนักของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงอาหารทอดต่างๆ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
เป็นต้น