3 อาการพบบ่อยในผู้หญิง เสี่ยงโรคภายในอันตราย

3 อาการพบบ่อยในผู้หญิง เสี่ยงโรคภายในอันตราย

3 อาการพบบ่อยในผู้หญิง เสี่ยงโรคภายในอันตราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคภายในคุณผู้หญิงสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน จึงไม่ควรชะล่าใจและควรตรวจสุขภาพภายในเป็นประจำทุกปี หากมีอาการผิดปกติต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด การรู้เท่าทันอาการผิดปกติที่บ่งบอกโรคภายในคุณผู้หญิงที่พบได้บ่อยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพื่อจะได้รู้ระวังและหมั่นตรวจเช็กสุขภาพภายในอยู่เสมอ

พญ.แสงเดือน จินดาวิจักษณ์ สูตินรีเวช รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ร่างกายของผู้หญิงจะมีความซับซ้อนโดยเฉพาะระบบภายในที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จนอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ ในบางครั้งมีอาการเตือน แต่บางครั้งไม่มีสัญญาณใดๆ แต่ก็มีสิ่งผิดปกติที่สามารถสังเกตได้ว่าอาจจะเกิดปัญหาบางอย่างภายในร่างกาย

3 อาการพบบ่อยในผู้หญิง เสี่ยงโรคภายในอันตราย

  1. อาการเลือดออกผิดปกติ (Abnormal Uterine Bleeding, Vagina Bleeding)

ได้แก่ เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน ซึ่งกลุ่มโรคที่ต้องแยกแยะ เช่น การหนาตัวผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งแพทย์จะต้องทำการตรวจเพิ่มด้วยการทำอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอด และทำการเก็บชิ้นเนื้อโพรงมดลูกเพื่อส่งตรวจ นอกจากนี้อาการเลือดออกผิดปกติอื่นๆ เช่น เลือดออกที่ไม่ใช่รอบเดือน (ระยะระหว่างรอบ < 21 วัน หรือระยะระหว่างรอบมากกว่า 35 วัน หรือมานานเกิน 10 วัน, มาไม่หยุด), เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์, เลือดประจำเดือนมามากจนโลหิตจางก็ควรพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอาการของมะเร็งมดลูกหรือการหนาตัวผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก หรือแม้แต่ในกลุ่มเนื้องอกมดลูกที่ไม่ใช่เนื้อร้าย เช่น เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ติ่งเนื้อโพรงมดลูก

  1. ก้อนในช่องท้องที่พบในผู้หญิง

เช่น ก้อนที่รังไข่ อาการท้องอืด หรือมีน้ำในท้อง โดยอาการท้องอืดอาจเป็นอาการของมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเยื่อบุช่องท้อง หากตรวจพบได้เร็ว ซึ่งมักพบได้เร็วหากตรวจอัลตราซาวนด์ ตรวจ CT SCAN ตรวจ MRI ตรวจ PET CT เป็นต้น และสามารถเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือเคมีบำบัด ช่วยเพิ่มโอกาสทางการรักษาให้มีโอกาสหายขาดได้ นอกจากนี้ก้อนในช่องท้องอื่นๆ ที่พบ เช่น เนื้องอกมดลูก ซึ่งการรักษาไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเสมอไป ข้อบ่งชี้หลักของกรณีที่จะผ่าตัด คือ เนื้องอกโตเร็ว (Sign of Malignancy) เนื้องอกไปกดอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย เนื้องอกทำให้ประจำเดือนมามากจนโลหิตจาง เป็นต้น

  1. มะเร็งปากมดลูก

เป็นมะเร็งชนิดเดียวในโลกที่มีการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกมีธรรมชาติการเป็นมะเร็งที่ยาวนาน จากเซลล์ปกติจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะก่อนที่จะเป็นมะเร็ง ซึ่งใช้เวลาเกือบ 10 ปี ก่อนจะกลายเป็นมะเร็ง โดยสาเหตุที่ทำให้เซลล์ปากมดลูกเปลี่ยนเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็งนั้นเกิดจากไวรัส HPV เป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นการตรวจคัดกรองด้วยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) หรือปัจจุบันมีการตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA Test) ที่ตรวจหาเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์เสี่ยงสูงแบบเจาะลึกลงไปในระดับดีเอ็นเอ ช่วยให้พบความผิดปกติได้เร็วขึ้น ทำให้แพทย์สามารถทำการรักษาได้ตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง และช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ทันท่วงที และหากมีการตรวจพบเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกอาจต้องมีการส่องกล้องขยายภาพปากมดลูก และตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย ช่วยค้นหาระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Pre – cancerous lesion : CIN) ซึ่งจะใช้เวลาตรวจไม่นานเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป เช่น การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า หรือการจี้เย็น เพื่อจัดการในระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV Vaccine) และผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง หรือหากไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุครบ 35 ปีควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง หากมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ท้องอืด อาหารไม่ค่อยย่อย น้ำหนักลดควรมาพบแพทย์ทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook