เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก อาจเสี่ยง “ลิ้นหัวใจรั่ว”
อาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ คือสัญญาณอันตรายที่เป็นไปได้ในหลายโรค หนึ่งในนั้นคืออาการของผู้ที่เป็น ลิ้นหัวใจรั่ว
หัวใจ คืออวัยวะที่ทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดปริมาณออกซิเจนสูง โดยมี “ลิ้นหัวใจ” ทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนเลือดให้เป็นไปตามทิศทางที่ถูกต้อง ในขณะที่หัวใจมีการบีบและคลายตัว แต่หากลิ้นหัวใจผิดปกติ เกิดการเสื่อมสภาพ หรือรั่ว เลือดสามารถไหลย้อนกลับ หรือไม่เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนัก อาจเกิดภาวะหัวใจโต เลือดคั่งในหัวใจ เลือดคั่งในปอด และในบางรายเสี่ยงเสียชีวิตจากการทำงานของหัวใจล้มเหลว
สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่ว
นายแพทย์ ทัศนัย จันโหนง แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) ระบุถึงสาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่วเอาไว้ ดังนี้
- ความผิดปกติของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจตั้งแต่กำเนิด
- ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ โดยลิ้นหัวใจจะหนาขึ้น และเริ่มมีหินปูนที่จะเข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อ
- โรคหัวใจรูห์มาติค โรคนี้พบได้บ่อยในเด็ก โดนจะเริ่มต้นจากการติดเชื้อ streptococcus ในคอ ร่างกายจะสร้างภูมิต่อต้านหัวใจตนเอง จนเกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ ส่งผลให้ลิ้นหัวใจตีบ และรั่ว
- การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจจนอักเสบเป็นรู โดยเชื้อโรคอาจมาจากช่องปาก เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด หรือ การเจาะร่างกาย เช่น เจาะปาก เจาะอวัยวะเพศ
- ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย และเกิดลิ้นหัวใจรั่วตามมา ผู้ที่อยู่ในความเสี่ยงกลุ่มนี้คือ เพศชายที่อายุมากกว่า 40 ปี หรือเพศหญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี และหมดประจำเดือน รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน สูบบุหรี่ กรรมพันธุ์ เป็นต้น
อาการของโรคลิ้นหัวใจรั่ว
โรคลิ้นหัวใจ คือหนึ่งในโรคที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็น “ภัยเงียบ” เพราะเมื่อเป็นแล้ว จะไม่แสดงอาการที่ชัดเจนทันที ในบางรายอาจยาวนานถึง 40 ปี จึงจะแสดงอาการรุนแรง ส่งผลให้ร่างกายเหนื่อยง่าย อ่อนเพลียทุกการเคลื่อนไหว และอาจเสียชีวิตจากการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว แต่ในผู้ที่เป็นลิ้นหัวใจรั่วอาจพบอาการได้ ดังนี้
- ลิ้นหัวใจรั่วทางด้านขวา ประสิทธิภาพในการทำงานของอวัยวะด้านขวาจะลดลง และมีอาการขาบวม ท้องอืด ตับโต หัวใจทางขวาบวม คอโป่ง หน้าบวม
- ลิ้นหัวใจรั่วทางด้านซ้าย จะส่งผลให้มีอาการเหนื่อยเร็วขึ้นเมื่อออกแรง หรือมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว คือ เหนื่อยมาก หอบ นอนราบไม่ได้ หายใจลำบาก
เห็นแล้วว่าโรคลิ้นหัวใจ คือโรคที่ยากในการป้องกัน และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิด และเกิดขึ้นได้จากการเสื่อมสภาพตามวัย ดังนั้น การเข้าตรวจร่างกายเพื่อค้นหาความผิดปกติที่เกิดกับอวัยวะภายในที่ยังไม่แสดงอาการ จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่า ภายในหัวใจและร่างกายของเรานั้นเกิดอะไรขึ้น และอันตรายมากเพียงใด