#นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ หมอเด็กแนะ ครูไม่ควรเรียกยอดวิวจากคลิปเด็ก

#นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ หมอเด็กแนะ ครูไม่ควรเรียกยอดวิวจากคลิปเด็ก

#นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ หมอเด็กแนะ ครูไม่ควรเรียกยอดวิวจากคลิปเด็ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คลิปเด็กร้องไห้คิดถึงแม่ เด็กโดนกล้อนผม หมอและผู้เชี่ยวชาญแนะ ครูไม่ควรถ่ายคลิปเด็กสร้างคอนเทนต์เรียกยอดไลก์ยอดวิวในโซเชียล มีการเปิดรณรงค์ผ่าน Change.org เรียบร้อยแล้ว

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดีฯ เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน โพสต์ข้อความผ่านเพจ ถึงกรณีที่ครูถ่ายคลิปเด็กนักเรียนลงโซเชียลมีเดีย เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการออกมาเคลื่อนไหว โดยระบุว่า

“เด็กนักเรียนไม่ใช่เครื่องสร้างคอนเทนท์

เด็กนักเรียน ไม่ใช่เครื่องมือสร้างคอนเทนท์ให้ครู

พ่อแม่ควรรู้ ว่านี่คือเรื่องของการละเมิดสิทธิ

อะไรที่ลงในโลกออนไลน์ ‘มันจะอยู่ที่นั่นตลอดไป’

เด็กๆ หลายคนไม่ได้เต็มใจให้ครูเอาพวกเขาไปเรียกยอดไลก์ 

แต่อำนาจที่สูงกว่า ทำให้เด็กหลายคนไม่กล้าปฏิเสธ

Social bullying ในเด็ก หลายครั้งเกิดจากการเห็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่

ครูมีหน้าที่พิทักษ์สิทธิของเด็ก 

โรงเรียนมีหน้าที่กำกับ การละเมิดสิทธิผู้อื่นของครู

กระทรวงศึกษามีหน้าที่ทำให้ครูเกิดความเข้าใจ และออกกฎกติกา เพื่อทำให้ไม่เกิดการเลียนแบบและทำกันอยู่ซ้ำๆ

พ่อแม่มีหน้าที่ปกป้องสิทธิของลูก ด้วยการส่งเสียงไม่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น

สังคมมีหน้าที่ไม่สนับสนุนการกระทำ ที่กำลังเกิดขึ้นกับเด็กซ้ำๆ เหล่านี้ 

ก่อนลงอะไรในโลกออนไลน์ 

ช่วยถามตนเองซ้ำๆ ว่าสิ่งที่กำลังทำมันเกิดประโยชน์กับใคร

และเด็กๆ 

เค้าได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้?

จาก หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน

ผู้เชื่อว่าคุณครูคือผู้ที่เด็กเห็นเป็นแสงสว่างและเป็นแบบอย่างที่ดี

ฝากด้วยนะคะ กระทรวงศึกษาธิการ Ministry of Education”


นอกจากนี้ หมอโอ๋ยังเปิดแคมเปญในเว็บไซต์ Change.org ในหัวข้อว่า กระทรวงศึกษาต้องปกป้อง #นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ #TikTok เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นด้วยร่วมลงชื่อรณรงค์และเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดยใจความในเว็บไซต์ ระบุว่า

“คลิปครูพาเด็กไปกล้อนผม คลิปเด็กร้องไห้เมื่อเขียนการ์ดวันแม่ คลิปเด็กกรีดร้องเพราะไม่อยากมาโรงเรียน

หลายครั้งแล้วที่โลกออนไลน์และสื่อแชร์คอนเทนท์เกี่ยวกับเด็กๆ ซึ่งแม้หลายคนจะมองว่าตลก น่าสงสาร หรือน่าเอ็นดู แต่เรากลับลืมคำถามสำคัญ ว่า เด็กๆ… ได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้?

หลายคอนเทนท์ที่ถูกโพสต์เพื่อเรียกยอดไลก์ เกิดขึ้นโดยที่เด็กๆ ไม่ได้ยินยอม ไม่รู้ตัว ไม่เข้าใจ ไม่ได้สนุกด้วย หรือปฏิเสธไม่ได้ เพราะกระทำโดยผู้มีอำนาจในโรงเรียน บางเรื่องเป็นการ Social bullying ทำให้เด็กอับอาย make fun หรือแกล้งเด็กจนเด็กหวาดกลัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลเสียมากมายกับตัวเด็ก และเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งขัดกับหลักข้อมูลส่วนบุคคล PDPA 

ประเด็นหนึ่งที่น่ากังวลในตอนนี้ คือ คลิปไวรัลเหล่านี้มาจาก ‘ครู’ ผู้ซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์สิทธิของเด็กเสียเอง ทั้งๆ ที่โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นที่ที่ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องการเคารพสิทธิผู้อื่น แต่กลับกลายเป็นว่าเด็กๆ ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างคอนเทนท์ให้ครู ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความไม่ระวังของครู หรือเพราะกระทรวงไม่มีกฎที่ห้ามครูทำอย่างนี้กับเด็กโดยชัดเจน 

ผู้ตั้งแคมเปญเชื่อว่าเด็กๆ หลายคนคงรู้สึกไม่ดี เพราะอะไรที่ลงไปในโลกออนไลน์ ‘มันจะอยู่ที่นั่นตลอดไป’ ส่วนผู้ปกครองหลายคนก็คงไม่อยากให้ใครมาถ่ายรูป อัดคลิปลูก ไปใช้ล้อเลียนเพื่อความสนุกสนาน หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว แต่เพราะความรู้สึกที่ว่า ครูมีอำนาจเหนือกว่า อาจทำให้เด็กหรือผู้ปกครองบางท่านไม่กล้าปฏิเสธ รวมถึงไม่กล้าว่ากล่าวอะไร

หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน (จิราภรณ์ อรุณากูร ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์) จึงอยากชวนทุกคนร่วมกันเรียกร้องไปที่กระทรวงศึกษาธิการ ให้ออกกฎคุ้มครองสิทธิเด็ก ไม่ให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษาใช้เด็กมาผลิตคอนเทนต์ โดยเฉพาะในกรณีที่ทำให้เด็กเกิดความอับอาย หรือในรูปแบบอื่นๆ ที่ละเมิดสิทธิของเด็กเอง โดยทางกระทรวงฯ ควรมีหน้าที่สร้างความเข้าใจ และออกกฎ กติกา เพื่อทำให้ไม่เกิดการเลียนแบบกันอยู่ซ้ำๆ 

ขอสังคมช่วยกันส่งเสียงและร่วมประกาศจุดยืนว่า Social bullying และการละเมิดสิทธิเด็กในโรงเรียนที่เกิดขึ้นโดยคุณครู เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เรื่องนี้จะได้เป็นแนวทางที่สังคมจะได้เรียนรู้กันต่อไป รวมถึงเด็กและผู้ปกครองจะได้มีแนวทางในการดูแลสิทธิของตัวเองได้อย่างไร”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook