วิธีกิน "กระเทียม" ที่ชาวญี่ปุ่นแนะนำ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
คนญี่ปุ่นใช้กระเทียมเป็นเครื่องปรุงรสเพื่อเสริมรสชาติของอาหารและเพื่อช่วยย่อยอาหารในเมนูราเม็งและเนื้อย่าง มารู้ประโยชน์ของกระเทียมจากนักจัดอาหารญี่ปุ่นและวิธีการรับประทานเพื่อให้ประโยชน์ต่อร่างกายอย่างสูงสุดกัน
กระเทียม และคุณค่าสารอาหารต่อร่างกาย
-
วิตามินบี 1 ช่วยเสริมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล
วิตามินบี 1 เป็นวิตามินสำคัญในระบบการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล หากขาดวิตามินชนิดนี้จะทำให้ประสิทธิภาพในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลไปเป็นพลังงานลดลง ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้า ขาดความอยากอาหาร และทำให้อ้วนง่าย หากชอบรับประทานอาหารประเภทแป้งหรือดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานกระเทียมเข้าไปด้วยจะช่วยเสริมการทำงานของระบบเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตให้ดีขึ้น
-
สารอัลลิซินซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
สารอัลลิอิน (Alliin) ที่มีอยู่ในกระเทียมจะเปลี่ยนเป็นสารอัลลิซิน (Allicin) เมื่อหั่น ทุบ หรือขูดกระเทียม ให้สัมผัสกับอากาศ สารอัลลิซินซึ่งทำให้เกิดกลิ่นกระเทียมมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เช่น เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) อีกทั้งสารชนิดนี้จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 1 เข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น
-
วิตามินบี 6 ช่วยในระบบเผาผลาญโปรตีน
วิตามินบี 6 จะช่วยเสริมระบบการเผาผลาญโปรตีนและช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง ช่วยป้องกันโรคทางประสาทและโรคผิวหนังหลายชนิด ป้องกันนิ่วในไต ช่วยให้ร่างกายดูดซึมโปรตีนและไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ
วิธีรับประทานกระเทียมเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย
-
รับประทานกระเทียมดิบ
สารอัลลิซินที่มีมากในกระเทียมซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าแบคทีเรียจะถูกทำลายโดยความร้อน ดังนั้นการรับประทานกระเทียมดิบโดยการสับ ทุบ หรือขูดแล้วปรุงรสอาหารจะทำให้ร่างกายรับสารอัลลิซินได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้หากไม่ชอบกระเทียมดิบก็ใช้วิธีการปรุงอาหารโดยการให้ความร้อนอย่างรวดเร็วเพื่อลดการสูญเสียสารอัลลิซิน
-
รับประทานพร้อมกับเนื้อหมู
สารอัลลิซินในกระเทียมจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 1 ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยเสริมการทำงานของระบบผลาญคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลได้ดี หากนำกระเทียมมารับประทานกับหมูซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินบี 1 ไม่ว่าจะด้วยวิธีการรับประทานแบบดิบ ผัดหรือย่าง สารอัลลิซินในกระเทียมจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 1 จากหมูเข้าสู่ร่างกายได้ดี
-
รับประทานวันละ 1-2 กลีบ
แม้ว่ากระเทียมจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็ไม่ควรรับประทานมากเกินไปเพราะกระเทียมจะไปทำให้เกิดระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ ปริมาณที่รับประทานเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพคือ วันละ 1-2 กลีบ
-
รับประทานกระเทียมดำ
กระเทียมดำเป็นกระเทียมที่ผ่านกระบวนการหมักที่อุณหภูมิควบคุมประมาณ 60-90 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาประมาณ 40-90 วัน จนทำให้กระเทียมมีสีดำ กระเทียมดำมีรสหวานคล้ายกับผลไม้แห้ง และอุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอล (สารต้านอนุมูลอิสระ) และสาร S-allyl cysteine (สารประกอบซัลเฟอร์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย) การรับประทานกระเทียมดำเป็นประจำจะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ลดความดันโลหิตสูง ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี LDL และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
คนญี่ปุ่นนิยมรับประทานกระเทียมกับเมนูเนื้อย่างและกระเทียมบดกับราเม็งเพื่อเสริมรสชาติของทั้งเนื้อย่างและราเม็งให้อร่อยขึ้น บ้านเรามีวิธีรับประทานกระเทียมดิบง่ายๆ จากการใส่ในน้ำพริก ส้มตำ หรือยำต่างๆ แม้จะมีประโยชน์ต่อร่างกายแต่ก็ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากจนปวดท้องกัน