จอประสาทตาเสื่อม-เบาหวานขึ้นตา โรคทางตาที่ผู้สูงอายุเสี่ยงสูง

จอประสาทตาเสื่อม-เบาหวานขึ้นตา โรคทางตาที่ผู้สูงอายุเสี่ยงสูง

จอประสาทตาเสื่อม-เบาหวานขึ้นตา โรคทางตาที่ผู้สูงอายุเสี่ยงสูง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้ ปัญหาสายตาที่มีแนวโน้มพบมากขึ้นในประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related Macular Degeneration: AMD) ซึ่งพบผู้ป่วยสูงถึง 18,700 คนต่อปี  และโรคเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Macular Edema: DME) ซึ่งพบผู้ป่วยสูงถึง 536,700 คนต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (aged society) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ทำให้ปัญหาด้านสุขภาพของประชากรที่มีอายุเพิ่มขึ้นหนีไม่พ้นเรื่องความเสื่อมของดวงตา ประกอบกับวิถีชีวิตของประชากรวัยทำงานที่อาจเคลื่อนไหวน้อย ชื่นชอบอาหารและเครื่องดื่มรสหวาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกิดภาวะเบาหวาน ปัญหาทางสายตาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น การเข้าใจปัจจัยเสี่ยง เฝ้าระวังสัญญาณเตือนเบื้องต้น และการไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งจำเป็น

นพ. ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์ จักษุแพทย์ด้านจอตาและม่านตาอักเสบ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และประธานชมรมต้อกระจกและผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติแห่งประเทศไทย ได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับโรคทางสายตาแนวทางการรักษาล่าสุด รวมถึงเคล็ดลับในการดูแลดวงตาเพียงคู่เดียวให้มีคุณภาพการมองเห็นที่ดีและอยู่คู่กับเราไปตราบนานเท่านาน

อาการและผลกระทบจากโรคทั้งโรคจอประสาทตาเสื่อม (AMD) และ โรคเบาหวานขึ้นจอตา (DME) เป็นโรคที่เกิดจากการมีเส้นเลือดที่จอประสาทตาผิดปกติ และทำให้การมองเห็นแย่ลง

โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related Macular Degeneration หรือ AMD) เกิดจากเส้นเลือดชั้นที่อยู่ใต้จอประสาทตามีความผิดปกติ ทำให้จุดรับภาพจอตาเสื่อม มี 2 ชนิด คือ ชนิดแห้ง (Dry AMD) และชนิดเปียก (Wet AMD or nAMD) โดยชนิดเปียกมักพบในผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป

โรคเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Macular Edema หรือ DME) เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ทำให้เส้นเลือดที่อยู่ในชั้นจอประสาทตามีความผิดปกติ ส่งผลให้จุดรับภาพจอตาบวม โรคนี้พบได้ในทุกช่วงอายุและยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการสูญเสียการมองเห็นในผู้ป่วยเบาหวาน

ปัจจัยเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ

ปัจจัยเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ มีทั้งปัจจัยที่เลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ อายุที่เพิ่มมากขึ้น และปัจจัยที่สามารถปรับได้ เช่น การเลิกสูบบุหรี่ ส่วนปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานขึ้นจอตา ประกอบไปด้วย ระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ความอ้วน หรือภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น

วิวัฒนาการทางการแพทย์เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เมื่อราว 10 กว่าปีที่แล้ว แนวทางการรักษาหลักของโรคทางจอประสาทตา ซึ่งรวมถึงโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุและโรคเบาหวานขึ้นจอตา คือ การใช้เลเซอร์ ซึ่งวิธีดังกล่าวมักจะไม่สามารถทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้มาก แต่การใช้เลเซอร์มีส่วนช่วยชะลอไม่ให้โรคลุกลามแย่ลงได้ อย่างไรก็ดี ภายหลังเมื่อความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการแพทย์ช่วยให้เกิดแนวทางการรักษาใหม่ที่ทำให้ผลการรักษาดีขึ้นได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาฉีดเข้าไปในน้ำวุ้นลูกตา โดยยาดังกล่าวเรียกว่ายาในกลุ่ม Anti-VEGF ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ในการลดการงอกของเส้นเลือดที่จอประสาทตา ผลที่ได้คือสามารถทำให้คุณภาพการมองเห็นของผู้ป่วยดีขึ้นได้ อย่างไรก็ดีการมองเห็นที่ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจำเป็นต้องทำการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาโดยมีความถี่ในการฉีดยาแต่ละชนิดแตกต่างกันไป บางชนิดผู้ป่วยต้องเข้ารับการฉีดยาบ่อยทุก 1-2 เดือน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วยและผู้ดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ระยะทางจากบ้านและโรงพยาบาลห่างไกลกันมาก หรืออยู่คนละจังหวัด ทำให้ผู้ป่วยที่คุณภาพการมองเห็นไม่ดีจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้ดูแลซึ่งอาจจำเป็นต้องลางานมา

นวัตกรรมการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุและโรคเบาหวานขึ้นจอตาด้วยยาฉีดได้รับการพัฒนาขึ้นมาก เมื่อไม่นานมานี้ ยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ (mechanism of action) แบบใหม่ ผ่านการรับรองจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็น dual pathway inhibitor (ยับยั้งทั้ง VEGF และ ANG 2 ซึ่งมีบทบาทสำคัญของการเกิดโรค) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการงอกของเส้นเลือดแล้ว ยังช่วยลดการรั่วของเส้นเลือด ลดการอักเสบของเส้นเลือด และทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตามีความแข็งแรงมากขึ้น จากมุมมองของจักษุแพทย์ กลไกการออกฤทธิ์ลักษณะนี้ถือได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านการรักษา ประกอบกับความสามารถในการออกฤทธิ์ของยาที่นานกว่าเดิม ทำให้ลดความถี่ในการฉีดยาลงได้ จากผลการวิจัยทางคลินิก พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่เป็นอาสาสมัครในงานวิจัยได้รับการฉีดยาทุก 12 สัปดาห์ (ทุก 3 เดือน) ส่วนอีกร้อยละ 60 ได้รับการฉีดยาทุก 16 สัปดาห์ (ทุก 4 เดือน) กล่าวได้ว่านวัตกรรมการรักษาใหม่นี้สามารถช่วยยกระดับการดูแลผู้ป่วยได้ดีกว่าเดิม

ส่วนเรื่องของความปลอดภัยและอาการข้างเคียง จากผลการวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยมากกว่า 2,300 ราย และผู้ป่วยที่มีประสบการณ์การได้รับยาจากการรักษาจริงในประเทศสหรัฐอเมริกา (real-world evidence) อีกราว 70,000 เข็ม7 นับตั้งแต่ยาผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (Food and Drug Administration หรือ US FDA)  ยังไม่พบความแตกต่างของอาการข้างเคียงระหว่างยานวัตกรรมใหม่กับยาฉีดชนิดเดิมที่เคยมีมาในอดีตแต่อย่างใด “ล่าสุด ผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุในประเทศไทยจำนวนหนึ่งมีโอกาสได้ใช้ยานวัตกรรมใหม่นี้แล้ว แต่ยังมีจำนวนไม่มาก เพราะยาเพิ่งผ่านการอนุมัติในประเทศ ผู้ป่วยที่สามารถใช้ยานวัตกรรมใหม่นี้ได้ มีทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและยังไม่เคยได้รับยาใดมาก่อน และในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาเดิม หรือผู้ป่วยที่ต้องการลดความถี่ในการฉีดยา ถือเป็นความหวังใหม่ของผู้ป่วยในกลุ่มโรคทางจอตาเหล่านี้

กรณีของผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตา หากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยนวัตกรรมใหม่ พร้อมกับควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อาการของโรคมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นได้ภายในระยะเวลา 3-5 ปี และมีโอกาสสูงที่ผู้ป่วยจะสามารถหยุดยาได้ ส่วนผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ แม้โอกาสในการหยุดยาจะมีน้อยกว่าผู้ป่วยผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตา แต่ยาที่สามารถลดความถี่ในการฉีดยา ก็ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นมาก

ในอนาคต เชื่อว่าจะมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรักษาโรคนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น ยาที่ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น ยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ต่างไปจากยาที่มีในปัจจุบัน การผ่าตัดเพื่อใส่เครื่องมือที่ช่วยในการปลดปล่อยยา ทำให้สามารถลดการฉีดยาเหลือเพียงปีละ 1-2 ครั้ง การใช้เทคโนโลยีในการวางแผนการรักษา เช่น AI (Artificial Intelligence) เพื่อดูว่าผู้ป่วยคนไหนจะตอบสนองต่อยากลุ่มใด ซึ่งล้วนส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

โรคทางสายตา รู้เท่าทันป้องกันได้

ทั้งสองโรคนี้เกิดจากความผิดปกติที่เส้นเลือดในจอประสาทตา ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันและอาจเกิดกับตาเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น โดยที่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดบริเวณดวงตา และหากสังเกตจากภายนอกก็อาจไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติของดวงตา ด้วยเหตุนี้ โรคทางสายตาจึงถือเป็นภัยเงียบ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจว่าการมองเห็นไม่ชัดเป็นผลจากค่าสายตาหรือค่าแว่นที่เปลี่ยนไป

สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุและโรคเบาหวานขึ้นจอตา ควรปรับพฤติกรรมและควบคุมโรคประจำตัวให้ดี ควรใส่แว่นป้องกันอุบัติเหตุหรือแว่นกันแดดเมื่อทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อดวงตาและแสงแดด งดการขยี้ตาหรือนวดตา งดการสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

คนทั่วไปจะสามารถประเมินความผิดปกติทางการมองเห็นด้วยตัวเองได้อย่างไร

ทุกคนสามารถคัดกรองความผิดปกติทางการมองเห็นด้วยตนเองได้ง่ายๆ เพียงลองปิดตาทีละข้าง จากนั้นมองขอบประตูหรือกรอบวงกบหน้าต่าง หากเห็นเส้นบิดเบี้ยวหรือจุดพร่ามัว ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที หากอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะได้เข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที และลดการสูญเสียการมองเห็น เพราะการมองเห็นที่ชัดเจนเป็นส่วนสำคัญยิ่งกับคุณภาพชีวิต 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook