สุขภาพ "เล็บ" บอกโรค

สุขภาพ "เล็บ" บอกโรค

สุขภาพ "เล็บ" บอกโรค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลักษณะของเล็บเรา บอกได้ว่าเรากำลังเสี่ยงโรคอะไรอยู่

เล็บนิ้วมือ นอกจากจะเป็นอวัยวะที่ช่วยให้ปลายนิ้วมือแข็งแรง หยิบจับของได้แน่นถนัดมือแล้ว ยังสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพเบื้องต้นของเราได้อีกด้วย

เล็บนิ้วที่มีสุขภาพดี จะมีลักษณะชีชมพูจางๆ พื้นผิวของเล็บเรียบ ไม่ขรุขระ ผิวหนังรอบๆ เล็บไม่เปื่อยร่น และเล็บไม่หนาและไม่บางจนเกินไป หากเล็บมีอาการต่างจากนี้ แปลว่าเล็บมีความผิดปกติ

พญ. ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ระบุว่า เล็บที่ผิดปกติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจจะเกิดจากการติดเชื้อ สารเคมีที่ก่อการระคายเคือง การกระแทก มะเร็ง หรือเกิดจากโรคทางกายอื่นๆ

สุขภาพ "เล็บ" บอกโรค

  1. เล็บหนา หรือบางมากเกินไป

เล็บที่หนาผิดปกติ อาจเสี่ยงโรคเชื้อรา โดยอาจพบอาการร่วมอื่นๆ เช่น เล็บอาจมีสีเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาว ผิวเล็บและส่วนปลายเล็บอาจขรุขระ และยังอาจเสี่ยงโรคสะเก็ดเงินได้อีกด้วย เพราะโรคสะเก็ดเงินอาจทำให้เล็บหนาหลายเล็บ ตรงข้ามกับโรคเชื้อราที่เป็นเพียงบางเล็บ

ในส่วนของเล็บบางกว่าปกติ อาจเกิดจากโรคโลหิตจาง ที่ขาดธาตุเหล็ก เล็บจะมีลักษณะบางและแอ่นคล้ายช้อน รวมถึงในคนสูงอายุอาจมีเล็บที่บางและเปราะแตกง่ายบริเวณปลายเล็บได้

  1. เล็บมีพื้นผิวขรุขระ

เล็บที่มีพื้นผิวขรุขระ เป็นอาการที่พบได้บ่อย ผิวเล็บอาจเป็นหลุมเล็กๆ ถ้าเป็นหลายเล็บ อาจบ่งบอกถึงโรคสะเก็ดเงิน หรือโรคภูมิแพ้ได้ แต่อาจพบได้ในเด็กบางคนโดยที่ไม่มีสาเหตุ บางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อาจพบเล็บเป็นร่องลึกตามแนวขวางจากการที่เล็บมีการสร้างเล็บผิดปกติขณะป่วย

  1. ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง

ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง อาจพบได้ในคนที่สัมผัสกับน้ำบ่อยๆ ผิวหนังรอบเล็บอาจมีการเปื่อยยุ่ย จึงเกิดการระคายเคืองจากสารเคมีได้ง่าย เช่น สารเคมีจากน้ำยาล้างจานและน้ำยาทำความสะอาดบ้าน บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อราตามมาได้ เช่นกัน ในผู้ป่วยบางคนที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังที่อ่อนแอนี้ ผิวหนังรอบเล็บอาจบวมแดงและมีหนองร่วมด้วย อาการบวมแดงมักเป็นมาไม่นาน ซึ่งต่างจากคนที่มีผิวหนังรอบเล็บบวมจากการระคายเคืองของสารเคมี

  1. เล็บเปลี่ยนสี

เล็บที่เปลี่ยนสี อาจเกิดจากภาวะโรคทางกาย ที่มีผลกับสีของเล็บ เช่น

- เล็บมีสีดำ อาจเป็นเพราะมะเร็งผิวหนัง เชื้อรา การกระแทก ไฝหรืออาจเป็นขึ้นมาเอง กรณีมะเร็งผิวหนังมีข้อสังเกตคือ ลักษณะเล็บที่ดำจะมีลักษณะเป็นปื้นสีดำสีไม่สม่ำเสมอ เป็นแค่เล็บเดียว มีประวัติเป็นมาไม่นาน อาจมีผิวหนังที่โคนเล็บเป็นสีดำร่วมด้วย

- เล็บที่มีสีขาวครึ่งเล็บ พบได้ในคนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง

- เล็บที่มีสีขาวสองในสามของเล็บ พบได้ในคนเป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็งและหัวใจวาย

- เล็บที่มีสีขาวเป็นแถบขวางอาจเป็นโรคโปรตีนในร่างกายต่ำ (Hypoalbuminemia) เล็บดังกล่าวเมื่อใช้มือกดไปที่เล็บ สีขาวที่เห็นจะจางลง

  1. ปลายเล็บร่น

อาการปลายเล็บร่น (Onycholysis) ปกติแล้วผิวหนังส่วนปลายจะติดกับเล็บ แต่หากมีโรคบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไทรอยด์ โรคเชื้อราและโรคผดผื่นผิวหนังอักเสบ รวมถึงยาบางชนิด อาจทำให้ขอบของผิวหนังที่ติดกับเล็บมีการร่นลงได้

วิธีรักษาอาการเล็บผิดปกติ

แพทย์จะดำเนินการรักษาตามสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น

  • หากเล็บเป็นเชื้อรา แพทย์อาจขูดขุยจากบริเวณเล็บที่หนาไปตรวจหาเชื้อราและเพาะเชื้อราแยกชนิดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและพยากรณ์โรคได้อย่างเหมาะสม
  • ในกรณีที่แพทย์สงสัยโรคมะเร็งผิวหนัง อาจต้องทำการตัดชิ้นเนื้อที่ใต้เล็บ เพื่อตรวจลักษณะทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
  • หากเล็บบอกถึงโรคทางกาย อาจต้องตรวจเลือด เช่น ตรวจหาระดับธาตุเหล็ก โรคไทรอยด์ โรคไตและโรคตับ

เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook