"อุจจาระตกค้างในท้อง" ปัญหาที่ทำเด็กร้องตลอดเวลา

"อุจจาระตกค้างในท้อง" ปัญหาที่ทำเด็กร้องตลอดเวลา

"อุจจาระตกค้างในท้อง" ปัญหาที่ทำเด็กร้องตลอดเวลา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • ปัญหาอุจจาระตกค้างในเด็ก อาจเกิดจากการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด อาหารจึงไม่ย่อย กินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้อุจจาระแข็ง ขับถ่ายไม่ออก มีปัญหาลำไส้ มีพยาธิ หรือเด็กที่ไม่ชอบถ่ายอุจจาระในตอนเช้า หรือชอบกลั้นอุจจาระ 
  • ควรให้เด็กทานผัก ผลไม้ เพื่อเพิ่มกากใย กินสารเหลวและน้ำมากๆ หรือโยเกิร์ต นมเปรี้ยว ให้ได้จุลินทรีย์สุขภาพ หลังรับประทานอาหารให้เด็กขยับร่างกายเล็กน้อย เพื่อให้ลำไส้ได้บีบตัว และไม่ควรกลั้นอุจจาระ  
  • ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขับถ่ายเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการขับถ่ายจะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย หากลูกมีอาการ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูกเรื้อรัง ถ่ายมีเลือดปนในอุจจาระ ร้องงอแง อาเจียน นอนไม่หลับ อย่าปล่อยไว้ หรือซื้อยามาให้เด็กทานเอง ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา 

เรื่องการขับถ่ายของเด็กๆ เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่คุณพ่อคุณแม่มักจะพบอยู่ตลอด โดยเฉพาะเด็ก 2 ขวบปีแรก ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก ถ่ายเหลว ถ่ายแข็ง ในเด็กบางคนอาจเป็นแบบไม่ทราบสาเหตุ ตรวจไม่พบโรค อาการที่น่าเป็นห่วงอย่างหนึ่งคือ อุจจาระตกค้าง หรืออุจจาระค้างท้อง  

อุจจาระตกค้างในลำไส้ คืออะไร

ศ.พญ. บุษบา วิวัฒน์เวคิน กุมารแพทย์โรคทางเดินอาหารและตับ รพ.เด็กสมิติเวช ระบุว่า อุจจาระตกค้างในลำไส้ หมายถึงการที่เด็กไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระออกมาได้หมด ทำให้รำคาญ เจ็บ ลำบากในการใช้ชีวิต และหากมีอุจจาระตกค้างอยู่ตามผนังลำไส้นานๆ ก็จะให้อุจจาระนั้นรวมตัวกันติดแน่น มีขนาดใหญ่ขึ้น หลุดออกไม่ได้ง่ายๆ กลุ่มอุจจาระใหม่ก็ไม่สามารถดันกลุ่มอุจจาระเก่า และถึงแม้จะดันของเก่าออกมาได้ก็ยังไม่สามารถช่วยดันอุจจาระเก่าที่ติดแน่นออกจากลำไส้ได้ทั้งหมด ซึ่งอาการนี้จะส่งผลต่อร่างกายอย่างมาก 

สาเหตุหรือความเสี่ยง ที่อาจส่งผลให้เด็กมีอุจจาระตกค้าง

  • กินอาหารชิ้นใหญ่ ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด อาหารย่อยไม่ได้ในลำไส้ 
  • กินอาหารที่มีกากใยน้อย ทำให้อุจจาระแข็ง ขับถ่ายไม่ออก 
  • อาจมีการติดเชื้อพยาธิ หรือเชื้อรา ที่ทำให้การดูดซึมผิดปกติ 
  • การที่เด็กไม่ได้ถ่ายอุจจาระในตอนเช้า ช่วงเวลา 5.00-7.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ร่างกายจะขับอุจจาระได้ดี 
  • เด็กบางคนมีการผ่าตัดช่องท้อง จนลำไส้เป็นพังผืด ซึ่งจะทำให้อุจจาระไปตกค้างตามซอกหลืบ 
  • เด็กทีมีการกลั้นอุจจาระบ่อยๆ จากความกลัวการขับถ่าย เช่น มีแผลที่รูทวารหนัก โดนสวนอุจจาระบ่อยๆ  
  • เมื่อเด็กท้องผูกนานๆ จะมีลำไส้ยืด พอง มีความยาวของลำไส้มากกว่าปกติ เพราะเมื่อขนาดลำไส้ยาว พับไปมาในช่องท้อง จะทำให้การลำเลียงของอุจจาระนานขึ้น เกิดการตกค้างระหว่างทางได้ 

อันตรายจากอุจจาระตกค้างในลำไส้เด็ก

เมื่อมีอุจจาระตกค้างเพิ่มมากขึ้น จะทำให้อุจจาระที่ตกค้างไปกดดัน ต่อกระเพาะอาหาร และไปกดทับกระเพาะปัสสาวะซึ่งจะทำให้เกิดอาการต่างๆ ที่ผิดปกติต่อไป เช่น 

  • เด็กปวดท้อง จากอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องผูกเรื้อรังเป็นเวลานาน 
  • ถ่ายอุจจาระแล้วมีเลือดปน 
  • ถ่ายอุจจาระเล็ด เปื้อน 
  • เด็กๆ อาจรู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกาย อาทิ มีอาการปวดหลัง ปวดขา ปวดไหล่ และสะบัก 
  • มีอาการเวียนหัว อ่อนเพลีย อาเจียน เบื่ออาหาร 
  • ร้องงอแง จนไม่สามารถนอนได้ หรือหลับไม่สนิท 
  • ปัสสาวะบ่อย กระเพาะปัสสาวะอักเสบ จนถึงกรวยไตอักเสบ 

การป้องกันไม่ให้เด็กมีอุจจาระตกค้าง

  • พยายามสอนหรือจับลูกขับถ่ายให้เป็นเวลา เช่น เมื่อตื่นมาตอนเช้าก็พาไปขับถ่ายหรือนั่งส้วมให้ได้ เวลาที่ดีที่สุดคือช่วง 5.00 – 7.00 น. แต่ต้องไม่ใช้วิธีกดดันให้เด็กเกิดความเครียด ไม่ควรใช้วิธีขู่ หรือการสวนอุจจาระ 
  • ให้เด็กรับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ 
  • ให้เด็กดื่มนมให้เพียงพอ กินสารเหลวและน้ำมากๆ เพื่อให้อุจจาระอ่อนนุ่ม 
  • อย่าให้เด็กกลั้นอุจจาระ เมื่อปวดให้รีบพาไปถ่ายทันที  
  • กินโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยว ให้ได้จุลินทรีย์สุขภาพ อุจจาระจะฟูนุ่ม 
  • หลังดื่มนมหรือรับประทานอาหาร พยายามช่วยให้เด็กได้มีการขยับร่างกาย เพื่อให้ลำไส้ได้มีการบีบตัว เพราะจะช่วยทำให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น และทำให้เกิดการขับถ่ายที่คล่องขึ้น 
  • หากมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย สามารถเลือกทานอาหารที่ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น เช่น นม โยเกิร์ต ผลไม้รสเปรี้ยว ลูกพรุน น้ำส้ม น้ำมะนาว 

การตรวจหาอาการอุจจาระตกค้างในลำไส้

คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจได้เบื้องต้นโดยใช้นิ้วมือลองกดๆ ลงไปลึกๆ คลำบริเวณท้อง ใต้สะดือด้านซ้ายล่าง จากนั้นคลำหาท่อนลำไส้ ลักษณะสัมผัสเป็นเหมือนท่อนยาวๆ คล้ายไส้กรอกเคลื่อนที่ตามการกดได้ หากกดไม่ถึง หรือกดหาไม่เจอ ให้จับเด็กนอนหงาย เมื่อเด็กหายใจเข้าหรือมีลักษณะแขม่วพุง เด็กผอมจะกดเจอง่ายกว่าเด็กที่มีน้ำหนักเยอะ 

เมื่อพ่อแม่รู้สึกว่า เด็กมีอาการเหมือนไม่สบายตัว มีอาการปวดท้อง ร้องงอแงไม่ทราบสาเหตุ  ท้องอืดบวม ถ่ายมีเลือดปนแนะนำให้พาเด็กมาตรวจระบบทางเดินอาหาร พบแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจอุจจาระ ตรวจภายในทวารหนักอย่างละเอียด หรือถ้ามีโรคทางเดินอาหารอื่นร่วมด้วย อาจจะมีการตรวจแบบส่องกล้องทางเดินอาหาร โดยการใช้กล้องที่มีสายยาวสอดเข้าไปทางปากหรือทวารหนัก  โดยแบ่งเป็นการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อตรวจดูหลอดอาหาร กระเพาะ และลำไส้เล็กส่วนต้น ใช้เวลาตรวจประมาณ 10 นาที และส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่างเพื่อตรวจดูลำไส้เล็กส่วนปลาย ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก  ใช้เวลาตรวจประมาณ 30-60 นาที   นอกจากนี้ยังมีการส่องกล้องด้วยวิธีกลืนแคปซูลทางปากสำหรับตรวจวินิจฉัยบริเวณลำไส้เล็กส่วนกลาง โดยปกติใช้เวลาตรวจประมาณ 8-12 ชั่วโมง ซึ่งบอกได้ถึงพยาธิสภาพ ภายในทางเดินอาหารทั้งหมด 

การตรวจดังกล่าวเป็นการตรวจวินิจฉัยในเด็กโดยเฉพาะ โดยให้เด็กหลับ เพื่อลดความกลัว ไม่เจ็บ เป็นการช่วยแก้ไขปัญหา หาสาเหตุ เพื่อการรักษาแบบตรงจุดที่สุด 

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขับถ่ายของเด็กๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการขับถ่ายจะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายภายในเกือบทั้งหมด ดังนั้นหากพบว่าลูกมีอาการ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูกเรื้อรัง ถ่ายมีเลือดปนในอุจจาระ ร้องงอแง อาเจียน นอนไม่หลับ อย่าปล่อยไว้ หรือซื้อยามาให้เด็กรับประทานเอง ควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและวางแผนรักษาที่ถูกต้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook