6 ปัญหาสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย

6 ปัญหาสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย

6 ปัญหาสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สุขภาพช่องปากเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ เนื่องจากปัญหาสุขภาพในช่องปากส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ประกอบกับผู้สูงอายุส่วนใหญ่ประสบปัญหาสุขภาพร่างกาย มีโรคประจำตัว ทำให้มีความเปราะบางและซับซ้อนต่อการทำทันตกรรม ดังนั้น ทันตกรรมในผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์เฉพาะทาง

ทพญ.รัฐนันท์ โล่ศุภกาญจน์ ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมผู้สูงอายุ ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลนวเวช รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทันตกรรมในผู้สูงอายุ พร้อมอธิบายถึงเหตุปัจจัยที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เมื่อผู้สูงอายุต้องเข้ารับการทำทันตกรรมภายในช่องปาก ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงในช่องปากของผู้สูงอายุ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะทุกอย่างก็เสื่อมลง จากผลการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 50 มีโรคเรื้อรังอย่างน้อยหนึ่งโรค และมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่มีโรคเรื้อรังหลายโรค ดังนั้น การดูแลทางทันตกรรมในผู้ป่วยสูงอายุนอกจากจะต้องคำนึงถึงสุขภาพช่องปากที่มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติแล้ว ยังต้องคำนึงถึงภาวะแทรกซ้อนจากยาและการรักษาอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งทันตแพทย์จะต้องประเมินสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวม และควรมีการปรึกษาร่วมกันระหว่างทันตแพทย์กับแพทย์ผู้ทำการรักษาโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ การซักประวัตินอกเหนือจากประวัติทางทันตกรรมแล้ว หากทราบชื่อโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ด้วยก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ผู้สูงอายุและญาติควรเตรียมประวัติทางการแพทย์ รายชื่อยาที่ได้รับทั้งแบบรับประทานและยาฉีด รวมถึงขนาดยาและความถี่ที่ได้รับ เพื่อแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

ปัญหาสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ

ปัญหาสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย ได้แก่

  1. ฟันผุ
  2. ฟันสึก
  3. โรคเหงือก
  4. ปัญหาการสูญเสียฟัน
  5. ภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย
  6. มะเร็งช่องปาก

ซึ่งปัญหาสุขภาพช่องปากหลายอย่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และยังสัมพันธ์กับสุขภาพร่างกายทั่วไปด้วย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคปอดอักเสบจากการสำลัก ภาวะทุพโภชนาการ เป็นต้น นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพช่องปากยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การพูด การรับประทานอาหาร การนอน ตลอดจนความสวยงาม การยิ้ม การหัวเราะ และความมั่นใจในการดำเนินชีวิตอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงในช่องปากของผู้สูงอายุ

การเปลี่ยนแปลงในช่องปากของผู้สูงอายุ เป็นผลเนื่องมาจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เป็นต้นว่า เยื่อบุผิวบางลง ความยืดหยุ่นลดลง ต่อมน้ำลายเสื่อม ระบบภูมิคุ้มกันทำงานลดลง ติดเชื้อง่าย แผลหายช้า เป็นต้น หนึ่งในปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุคือภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย

ภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย สาเหตุของภาวะปากแห้งน้ำลายน้อยนอกจากต่อมน้ำลายเสื่อมตามอายุขัยแล้ว พบว่าส่วนใหญ่มาจากการรับประทานยารักษาโรคประจำตัวต่างๆ ของผู้สูงอายุ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้เครียด ยาแก้แพ้ เป็นต้น นอกจากนี้การรักษาโรคมะเร็งบริเวณศีรษะ และลำคอก็นับว่าเป็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งของภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย ซึ่งภาวะนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เช่น การรับประทานอาหารลำบากและไม่อร่อย ปัญหาการกลืนลำบาก เกิดความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการได้

นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคฟันผุและโรคปริทันต์เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากน้ำลายเป็นตัวชะล้างตามธรรมชาติ และเมื่อปากแห้ง เนื้อเยื่อขาดความชุ่มชื้น ก็จะเกิดแผลในปากได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเกิดการเสียดสีกับสิ่งต่างๆ เช่น อาหารหรือแม้กระทั่งฟันปลอม และเมื่อน้ำลายหลั่งน้อย สารโปรตีนต่างๆ ที่มีอยู่ในน้ำลายที่ทำหน้าที่ต้านจุลชีพก็จะหลั่งออกมาน้อยด้วย จึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น เชื้อราในช่องปาก ดังนั้น การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุจึงต้องคำนึงถึงการจัดการ การเกิดภาวะปากแห้งน้ำลายน้อยด้วย เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคเหงือกและฟัน

การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ

การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากได้ ดังนี้

  1. ผู้สูงอายุควรแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละสองครั้ง ร่วมกับการใช้อุปกรณ์เสริมในการทำความสะอาดบริเวณซอกฟัน เช่น ไหมขัดฟัน หรือ แปรงซอกฟัน
  2. ควรดูแลทำความสะอาดฟันเทียมหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง เพื่อลดการสะสมของเศษอาหารและเชื้อจุลินทรีย์
  3. ในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถดูแลทำความสะอาดช่องปากได้เอง ก็จำเป็นต้องมีผู้ดูแลคอยช่วยเหลือด้านการทำความสะอาดช่องปาก
  4. ผู้สูงอายุควรได้รับการส่งเสริมสุขภาพในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรือร้อนจัด เลือกบริโภคน้ำตาลในปริมาณจำกัด
  5. ลดการรับประทานของหวานระหว่างมื้อ เพื่อป้องกันโรคฟันผุ
  6. ในกรณีที่น้ำลายน้อยมากอาจแนะนำให้จิบน้ำบ่อยๆ
  7. ผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลสุขภาพในช่องปากจากทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อาจจะปีละ 2-4 ครั้ง เพื่อรับการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ รับบริการทันตกรรมป้องกัน เช่น การทำความสะอาดฟัน การเคลือบฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันโรคฟันผุและโรคปริทันต์ และรับบริการทันตกรรมรักษาที่จำเป็นก่อนที่โรคในช่องปากจะรุนแรงมากขึ้น

เมื่อผู้สูงอายุและญาติมีความเข้าใจและสามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้อย่างดีแล้ว ก็จะสามารถมีสุขภาพช่องปากที่ดีได้เหมือนที่เคยเป็นในครั้งวัยหนุ่มสาว ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook