อันตรายจากสาร "บอแรกซ์" และวิธีหลีกเลี่ยง
“บอแรกซ์” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ผงกรอบ” หรือ “น้ำประสานทอง” เป็นสารเคมีอันตรายที่ห้ามใช้ในการประกอบอาหาร แต่มักถูกนำมาผสมในอาหารประเภทลูกชิ้น ไส้กรอก เพื่อถนอมอาหาร และทำให้อาหารหยุ่นกรอบ
คณะแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ระบุว่า บอแรกซ์ มีลักษณะไม่มีกลิ่น เป็นผลึกละเอียด หรือผงสีขาว ละลายน้ำได้ดี ไม่ละลายในแอลกอฮอล์ 95% มีการนำมาใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม และบอแรกซ์มีคุณสมบัติทำให้เกิดสารประกอบเชิงซ้อน กับสารประกอบอินทรีย์โพลีไฮดรอกซี (Organic polyhydroxy compound) เกิดเป็นสารหยุ่น กรอบ และเป็นวัตถุกันเสียได้ จึงมีการลักลอบนำสารบอแรกซ์ผสมลงในอาหารหลายชนิด เช่น เนื้อหมู ปลาบด ลูกชิ้น ผลไม้ดองไก่สด ทับทิมกรอบ เป็นต้น สารบอแรกซ์เป็นสารเคมีห้ามใช้ในอาหาร ตามกฎหมายอาหารฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536)
อันตรายจากบอแรกซ์
อ.พญ.สุทธิมน ธรรมเตโชม ผศ.นพ. สุชัย สุเทพารักษ์ แพทย์ฝ่ายอายุรศาตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า หากได้รับสารบอแรกซ์ปริมาณเล็กน้อย อาจทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย แต่หากได้รับสารปริมาณสูง อาจทำให้ไตวาย หรือเสียชีวิตได้ หากได้รับสารบอแรกซ์ปริมาณน้อยๆ อย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้ง หนังตาบวม เยื่อตาอักเสบ และไตอักเสบ
คณะแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ระบุว่า การบริโภคอาหารที่มีสารบอแรกซ์เจือปนจะทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นพิษต่อไต ก่อให้เกิดไตวาย และสมอง อาการขึ้นอยู่กับปริมาณสารที่ได้รับ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ได้รับสารบอแรกซ์ 15 กรัม หรือเด็กได้รับ 5 กรัม จะทำให้อาเจียนเป็นเลือด และอาจตายได้
วิธีหลีกเลี่ยงสารบอแรกซ์
เราอาจหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนบอแรกซ์โดยการเลี่ยงผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูปที่มีสีสดมาก กรอบเด้งเกินไป หรืออยู่ได้นานเกิดผิดปกติ