“อีสุกอีใส” หากเคยเป็นแล้ว จะเป็นอีกได้หรือไม่

“อีสุกอีใส” หากเคยเป็นแล้ว จะเป็นอีกได้หรือไม่

“อีสุกอีใส” หากเคยเป็นแล้ว จะเป็นอีกได้หรือไม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ว่าหากเคยเป็นอีสุกอีใสครั้งหนึ่งแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันให้ไม่เป็นอีกเลยตลอดชีวิตนั้น จริงหรือไม่

อีสุกอีใส หากเคยเป็นแล้ว จะเป็นอีกได้หรือไม่

โรคอีสุกอีใสโดยทั่วไปเป็นแล้วมักไม่กลับเป็นซ้ำได้อีก ซึ่งหากติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นตลอดชีวิต แต่ก็พบว่าในคนที่มีภูมิต้านทานปกติสามารถเป็นโรคอีสุกอีใสครั้งที่สองได้ แต่อาการมักไม่รุนแรงและไม่ค่อยเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องกินยากดภูมิหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่สามารถเป็นซ้ำได้บ่อยกว่า

อีสุกอีใส คืออะไร

โรคอีสุอีใส เป็นโรคไข้ออกผื่น จะมีอาการไข้และผื่นตุ่มน้ำใสที่ผิวหนังทั่วร่างกาย มักพบที่ลำตัวและใบหน้ามากกว่า บริเวณแขนขา บางรายอาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจและระบบอื่นๆ ร่วมด้วย พบได้บ่อยในเด็ก บางครั้งอาจพบภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สาเหตุของโรคอีสุกอีใส

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สาเหตุของโรคอีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด 

อาการของโรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใสจะมีอาการดังต่อไปนี้

  1. ไข้ 
  2. ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัด
  3. มีผื่นตุ่มน้ำใสที่ผิวหนัง 

ไข้จะสูงหรือน้อยและตุ่มจะมีจำนวนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับอายุ เด็กจะมีเพียงไข้ต่ำๆ และมีตุ่มจำนวนน้อย ในขณะที่เด็กโตและผู้ใหญ่ มักมีไข้สูงและตุ่มจำนวนมาก 

ลักษณะของผื่นในโรคอีสุกอีใส

ผื่นในโรคอีสุกอีใส มีลักษณะเฉพาะคือ ผื่นจะเริ่มจากตุ่มแดง กลายเป็นตุ่มใส และแตกออก เป็นสะเก็ด เมื่อผื่นขึ้นแล้ว 2-3 วัน จะเห็นตุ่มหลายชนิดในเวลาเดียวกัน

การติดต่อของโรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีกใสสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ง่ายมาก เพราะเชื้ออยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานและผู้ป่วยอีสุกอีใสสามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่นได้หลายวัน ตั้งแต่ 1-2 วัน ก่อนมีไข้และผื่น จนถึงเมื่อตุ่มสุดท้ายตกสะเก็ด หรือประมาณ 7 วัน หลังจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการ

อันตรายของโรคอีสุกอีใส

ส่วนใหญ่ผื่นจะขึ้นที่ลำตัวและใบหน้ามากกว่าแขนขา เด็กที่ป่วยเป็นอีสุกอีใส จะมีอาการไม่รุนแรง และพบภาวะแทรกซ้อนทางปอด และทางสมองได้น้อยกว่าผู้ป่วยเด็กโตอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 13 ปี และผู้ใหญ่ แต่พบการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนังได้บ่อย ทำให้เกิดแผลเป็นที่ผิวหนังและอาจถึงขึ้นทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมา

ภาวะแทรกซ้อนของโรคอีสุกอีใส มักพบในทารกแรกเกิด ผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและรุนแรงคือ ติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง การติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ปอดอักเสบ สมองอักเสบ เป็นต้น

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่หายเองได้ อาจจะมีไข้เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หายใน 1-3 สัปดาห์ 

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส

  1. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
  2. ดื่มน้ำมากๆ 
  3. ถ้ามีไข้สูงใช้ยาเพื่อลดไข้ได้ ไม่ควรกินยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการทางสมองและตับทำให้ถึงตายได้ 
  4. ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฟอกผิวหนังให้สะอาด 
  5. ควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะเกา เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ 
  6. ในรายที่คันมากๆ อาจให้ยาแก้คันช่วยลดอาการคัน 

วิธีป้องกันโรคอีสุกอีใส

การป้องกันโรคอีสุกอีใสเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสอีสุกอีใสให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่ช่วงออกอาการไข้ไปจนถึงช่วงแผลแห้งตกสะเก็ด ดังนั้นทางป้องกันคือ ถ้าบุตรหลานป่วยเป็นอีสุกอีใส ต้องงดไปโรงเรียน ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่น และการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป

แม้วัคซีนสามารถป้องกันโรคได้ผลกว่าร้อยละ 94-99 แต่ผู้ที่ฉีดแล้วยังมีโอกาสเป็นโรคได้แต่อาการจะไม่รุนแรง เริ่มฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป และกระตุ้นอีกเข็มเมื่ออายุ 2½-4 ปี โดยในเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี เข็มสองฉีดห่างกันอย่างน้อย  3 เดือน ถ้าอายุเกิน 13 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook