#เรื่องของใจใครว่าไม่สำคัญ แคมเปญสร้างความเข้าใจปัญหาสุขภาพจิต
สถาบันเกอเธ่ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปล่อยแคมเปญ #เรื่องของใจใครว่าไม่สำคัญ โดยตั้งเป้าให้หัวเรื่องของ “สุขภาพจิต” เป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจมากขึ้น พร้อมสร้างการยอมรับ ความเข้าใจ และทัศนคติต่อกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิต
จากการเก็บข้อมูลกลุ่มเด็กและวัยรุ่น อายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 183,974 คน ที่เข้ามาประเมินสุขภาพจิตตนเอง ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต ในช่วง 18 เดือนของการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 พบว่า ร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง, ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้า และร้อยละ 22 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย
ทั้งนี้ ผลการวิจัยของ Super Poll Research Center ในปี 2563 ชี้ว่า ก่อนการเกิดโรคระบาด ประเทศไทยก็มีอัตราการฆ่าตัสตายสูงที่สุดในอาเซียน โดนมีอัตราการฆ่าตัวตาย 14.4 คนต่อประชากร 100,000 คน
แคมเปญ #เรื่องของใจใครว่าไม่สำคัญ จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาสุขภาพจิต และสามารถขอความช่วยเหลือผ่านแพลตฟอร์มหรือบริการต่าง ๆ ได้ โดยแคมเปญนี้จะมีข้อมูลด้านสุขภาพจิตและคำแนะนำที่มีประโยชน์ ซึ่งเป็นผลงานของ 15 คอนเทนต์ครีเอเตอร์ในเมืองไทย ซึ่งจะปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ https://thaimentalhealthmatters.org/ เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งติ๊กต็อก อินสตาแกรม ยูทูบ เฟสบุ๊ก และอื่น ๆ โดยเนื้อหาที่ปรากฏจะเน้นไปที่ 6 หัวข้อซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตใจปัจจุบัน ดังนี้
- ความสัมพันธ์ในครอบครัว
- ภาวะซึมเศร้าในหมู่คนหนุ่มสาว
- คุณค่าในตนเองและความภูมิใจในตนเอง
- เคารพตนเองและผู้อื่น
- ความคาดหวังที่พ่อแม่มีต่อลูก
- การตีตราเรื่องสุขภาพจิตในครอบครัว
นอกจากนี้ ยังมีแบบทดสอบภาวะซึมเศร้าด้วยตัวเอง เพื่อให้โอกาสตรวจสอบว่าตัวเองมีสัญญาณของภาวะซึมเศร้าหรือไม่ ซึ่งเป็นแบบสอบถามที่แพทย์และนักบำบัดใช้เพื่อตรวจคัดกรองผู้ป่วย เข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่: https://thaimentalhealthmatters.org/help/