"กัญชา" รักษาโรค "นอนไม่หลับ" ได้หรือไม่
มีวิธีที่จะใช้กัญชาในการรักษาอาการนอนไม่หลับได้อย่างปลอดภัยหรือไม่
ข้อมูลจาก สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย ระบุว่า สารในกัญชาที่มีผลต่อร่างกายในทางการแพทย์ หลักๆ มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่
- THC (delta-9-tetrahydrocannabinol)
- CBD (cannabidiol)
พืชกัญชาส่วนใหญ่มีสาร THC สูงกว่าสาร CBD การบริโภคกัญชา หรือผลิตภัณฑ์กัญชาที่ไม่ได้สกัดแยกสารทางการแพทย์อย่างมีมาตรฐาน มีความเสี่ยงที่จะได้รับโทษจากสาร THC ที่มีปริมาณสูงเกินไป
กัญชา กับการรักษาอาการนอนไม่หลับ
ขณะนี้ (สิงหาคม 2565) กัญชายังไม่ได้ถูกรับรองอย่างเป็นทางการเพื่อใช้ในการรักษาอาการนอนไม่หลับ เนื่องจากงานวิจัยที่มีขณะนี้ยังมีระดับคุณภาพต่ำ ยังไม่ได้มาตรฐาน เพราะผู้เข้าร่วมวิจัยมีจำนวนน้อย และหลายงานวิจัยยังขาดกลุ่มควบคุม
นอกจากนี้ ผลการวิจัยที่มีอยู่ในขณะนี้ มีความกระจัดกระจาย ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้กัญชารักษาอาการนอนไม่หลับ เพราะถึงแม้กัญชาจะจะมีผลช่วยลดความวิตกกังวล ทำให้หลับได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีหลายรายงานที่พบว่าทำให้การนอนหลับแย่ลง อีกทั้งผู้ใช้จะไม่สามารถหยุดใช้กัญชาได้ เพราะจะมีอาการขาดยา และจะยิ่งทำให้เกิดความทรมาน หลับได้ยากขึ้น
ข้อควรระวังในการใช้กัญชารักษาอาการนอนไม่หลับ
- กัญชามีฤทธิ์ทำให้เสพติดได้ เกิดจากฤทธิ์ของสาร THC ไม่สามารถหยุดใช้ได้ เมื่อหยุดใช้จะเกิดภาวะขาดกัญชา ซึ่งจะทำให้การนอนหลับยากขึ้น ประสิทธิภาพการนอนหลับแย่ลง เกิดความรู้สึกทรมาน ส่งผลทำให้ต้องกลับไปใช้กัญชาต่อเนื่อง
- กัญชามีฤทธิ์ทำลายการทำงานสมอง
- เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการเกิดอาการทางจิตเวช ทำให้การรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมเสียไปเกิดอาการประสาทหลอน อาการหลงผิด และอาการซึมเศร้า
- เพิ่มความเสี่ยงต่อความสามารถของสมอง ทำให้ความสามารถต่างๆ ของสมองแย่ลง ทั้งการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การตัดสินใจ การบริหารจัดการ การวางแผน ความจำ การควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมแย่ลง
การใช้กัญชาเพื่อช่วยเรื่องการนอนหลับจึงมีความเสี่ยงที่ได้รับผลด้านลบมากกว่าผลด้านบวก