5 สาเหตุโรค “กระเพาะอาหารอักเสบ” และวิธีป้องกัน
โรคกระเพาะอาหารอักเสบไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เป็นแล้วทรมาน มีสาเหตุอะไรบ้าง
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ พบได้ในวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน และวัยชรา ที่เป็นกันมากเพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และพบได้บ่อยในวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน
5 สาเหตุโรค “กระเพาะอาหารอักเสบ”
- การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori เกิดจากการสัมผัสเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ผ่านทางการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เช่น อาหารและน้ำที่ไม่สะอาด อาหารแช่แข็งที่ปรุงไม่สุก อาหารดิบ เป็นต้น
- สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้ติดเชื้อ Helicobacter pylori ได้ง่าย ซึ่งเชื้อนี้เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำจะมีโอกาสเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นง่ายกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ เพราะสารเคมีในควันบุหรี่จะไปกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ และแผลก็หายยากด้วย
- ใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ รวมถึงยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด การรับประทานยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน อาจมีผลข้างเคียงที่ทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารได้
- มีความเครียด ซึมเศร้า หรือมีความวิตกกังวล เวลาที่เรามีอาการเครียดมาก ๆ ฮอร์โมนในร่างกายจะเกิดความแปรปรวน ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวกและกระเพาะอาหารจะหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลทำให้ระบบการทำงานย่อยอาหารแย่ลง รวมถึงการทำงานของกระเพาะอาหารแย่ลงด้วย
- ดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากๆ จะไปกัดชั้นเมือกในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นสาเหตุให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
อาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
- ปวดหรือแสบท้องบริเวณลิ้นปี่ เป็นๆ หายๆ
- ปวดท้องก่อน หรือหลังกินอาหาร
- แน่นท้อง
- ท้องอืด
เป็นต้น
วิธีป้องกันโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
- กินอาหารให้ตรงเวลา
- ไม่กินอาหารมากเกินไป ควรกินผักผลไม้มากขึ้น
- ไม่กินอาหารที่กระตุ้นให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสจัด อาหารมัน ไม่ดื่มน้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ซื้อยามากินเอง เพราะยาบางชนิดมีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร