ทำไมคนที่สุขภาพแข็งแรง ถึงเสียชีวิตกะทันหันได้
ความแข็งแรงของร่างกายภายนอกไม่อาจบ่งบอกปัญหาการทำงานภายในร่างกายได้ โดยเฉพาะความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบสำคัญต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่ ภาวะเสียชีวิตกะทันหัน
พญ.วริษฐา เล่าสกุล แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลนวเวช เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเสียชีวิตกะทันหัน โดยจำแนกหัวข้อ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มาอธิบายให้ฟังในอันดับแรก พร้อมแจกแจงปัจจัยเสี่ยง แนวทางการป้องกัน รวมทั้งวิธีรับมืออย่างเหมาะสมและทันท่วงที
ภาวะเสียชีวิตกะทันหัน ในผู้ที่สุขภาพแข็งแรงมาก่อน สามารถเป็นได้จากหลายสาเหตุ แต่ก่อนอื่นนั้นอาจต้องดูว่าผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ในความเป็นจริงแล้วมีโรคประจำตัวอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นอันตรายต่อหลายระบบสำคัญในร่างกาย เช่น ระบบหลอดเลือดหัวใจ และระบบประสาท เป็นต้น
โดยการเสียชีวิตเฉียบพลันนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุของอวัยวะสำคัญของร่างกาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุ และปัจจัยทางสุขภาพของแต่ละคน เช่น
- หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Death)
- หลอดเลือดปอดอุดตันเฉียบพลัน (Pulmonary Embolism)
- หลอดเลือดสมองตีบ หรือ แตกเฉียบพลัน (Stroke)
โดยวันนี้จะกล่าวถึง ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden cardiac death) คือการที่หัวใจหยุดทำงานฉับพลัน ทำให้ไม่สามารถบีบเลือดให้ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ ทำให้สมอง และอวัยวะสำคัญจะเริ่มขาดเลือดและเสียชีวิตในที่สุด
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
- เส้นเลือดหัวใจตีบ (Ischemic Heart Disease) หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ (Coronary Anomalies)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ การนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติไป เช่น การเต้นผิดจังหวะของหัวใจห้องล่าง (Ventricular Fibrillation, Ventricular Tachycardia)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (Low Ejection Fraction) หรือ กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ
- สาเหตุความผิดปกติอื่นที่เกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด การเกิดการบาดเจ็บหรือได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณหน้าอก (Commotio Cordis)
ปัจจัยเสี่ยงภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
- ภาวะไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคไตเสื่อม
- การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด
- ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวมีคนเสียชีวิตเฉียบพลันตั้งแต่อายุน้อย (อายุน้อยกว่า 55 ปี)
- การมีโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหัวใจ
แนวทางการป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
- หลีกเลี่ยงประวัติเสี่ยงดังที่กล่าวไปข้างต้น
- คอยสังเกตอาการ หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น อาการเจ็บหน้าอก อาการวูบ หมดสติ หายใจเหนื่อย ใจสั่น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับโรคหัวใจ
- ตรวจสุขภาพเพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ โดยในแต่ละบุคคลอาจ
มีแนวทางการตรวจรักษาที่ต่างกันไป เช่น ผู้ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี ผู้ที่เป็นนักกีฬา และกลุ่มผู้สูงอายุ จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป
ในปัจจุบันมีผู้ที่เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันประมาณ 3 ล้านคนต่อปีจากทั่วโลก นอกจากการป้องกันและคอยตรวจดูความเสี่ยงแล้ว สิ่งสำคัญคือเราทุกคนควรเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลและการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น (Basic Life Support) ซึ่งมีส่วนสำคัญมากในการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันซึ่งสามารถเกิดกับใครก็ได้