“Flavorful No Sugar Ice Cream” ไอศกรีมไร้น้ำตาล แต่หวานจากความรัก
Highlight
- Flavorful No Sugar Ice Cream เป็นไอศกรีมเจลาโตไร้น้ำตาล ที่เกิดขึ้นจากความรักในไอศกรีมและความใส่ใจสุขภาพของสันติสุขและสิริกัญญา กาญจนประกร
- จุดเด่นของไอศกรีมไร้น้ำตาลแบรนด์นี้ คือรสชาติที่แปลกใหม่และหลากหลาย วัตถุดิบปลอดสารพิษ และการจัดส่งที่คำนึงถึงความสดใหม่ของไอศกรีม
- แม้ว่าไอศกรีมจะมีราคาสูง เช่นเดียวกับอาหารสุขภาพอื่นๆ แต่สันติสุขและสิริกัญญาก็มุ่งหวังให้ไอศกรีมของพวกเขาสามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้ เพราะคนทุกคนควรเข้าถึงอาหารสุขภาพได้ ไม่ใช่แค่คนมีฐานะเท่านั้น
สำหรับคนยุคใหม่ สุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจดูแลอย่างจริงจัง อาหารสุขภาพจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แม้แต่ขนมหวานก็ยังต้องลดความหวาน เพื่อดึงดูดใจคนรักสุขภาพ และท่ามกลางกระแสอาหารสุขภาพและขนมหวานน้อย ไอศกรีมโฮมเมดเจลาโตไม่ผสมน้ำตาลอย่าง “Flavorful No Sugar Ice Cream” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นจากฝีมือและหัวใจของสันติสุขและสิริกัญญา กาญจนประกร ที่ก้าวจากงานสื่อสารมวลชนและแวดวงวรรณกรรม มาสู่อีกบทบาทหนึ่ง คือการเป็นเจ้าของธุรกิจไอศกรีมเพื่อสุขภาพ
จุดเริ่มต้นจากความรัก
สำหรับสันติสุขและสิริกัญญา ไอศกรีมมีความหมายต่อชีวิตของพวกเขาในมุมที่ต่างกัน โดยสันติสุขเล่าว่า ไอศกรีมถือเป็นเพื่อนในยามเศร้าของเขา
“เวลาที่เราหงุดหงิด เครียด หรือจิตตก สิ่งแรกที่เรานึกถึงเลยก็คือไอศกรีม แล้วกินทีก็จะกินเยอะ เพราะรู้สึกว่าความเย็น ความหวาน ความอร่อยของมันจะช่วยบรรเทาข้างในของเราให้ผ่อนคลาย สงบลง”
ทว่าสิริกัญญากลับไม่ได้คลั่งไคล้ไอศกรีมเท่ากับฝั่งสามี แต่ไอศกรีมก็มีความหมายกับเธอเช่นกัน
“มันมีความหมาย เพราะว่าเขาชอบกิน แล้วเราเป็นคนชอบทำ เราก็เลยอยากทำสิ่งที่เขาชอบกิน” สิริกัญญากล่าว
อาจกล่าวได้ว่าไอศกรีม Flavorful No Sugar Ice Cream ถือกำเนิดขึ้นจากความรักของคนทั้งคู่ เพราะสิริกัญญาเล่าว่า ความคิดที่จะทำไอศกรีมไร้น้ำตาลเกิดขึ้นในวันที่สันติสุขต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคประจำตัว และยาที่รับประทานส่งผลให้ค่าน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นั่นหมายความว่า สันติสุขต้องควบคุมการบริโภคน้ำตาล ซึ่งอาจจะต้องห่างหายจากไอศกรีมในที่สุด
“เขาก็อยากกินไอศกรีม ช่วงนั้นไอศกรีมไม่ผสมน้ำตาลยังมีไม่มากเท่าไร เราก็ไปลองชิมหลายๆ เจ้า เรารู้สึกว่ามันก็อร่อย แต่ว่าเนื้อสัมผัสมันยังไม่ถูกใจเรา เราก็เลยคิดว่า ถ้าวันหนึ่งมีโอกาส เราอยากจะลองทำเอง” สิริกัญญาเล่าถึงก้าวแรกสู่วงการไอศกรีม
หลังจากนั้น สิริกัญญาได้เรียนทำไอศกรีมเจลาโตสูตรปกติ และค่อยๆ พัฒนาสูตรไปเป็นไอศกรีมไร้น้ำตาลด้วยตัวเอง พร้อมๆ กับการทำงานบรรณาธิการหนังสือไปด้วย ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลานานถึง 2 ปี จนกระทั่งได้เปิดร้านออนไลน์ในกลางเดือนธันวาคม ปี 2020 ซึ่งตรงกับช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 ระลอกที่สอง โดยในระยะแรก สันติสุขและสิริกัญญาจะขับรถไปส่งไอศกรีมให้ถึงมือลูกค้าทุกคนด้วยตัวเอง จากความรักและความใส่ใจในไอศกรีมที่ทั้งคู่ได้ปลุกปั้นมา
“เราทำเพราะว่าเริ่มต้นจากการที่เราอยากจะดูแลสุขภาพตัวเองก่อน แล้วรสชาติต่างๆ ก็เป็นรสชาติและเนื้อสัมผัสที่เราที่เป็นคนรักไอศกรีมชอบจริงๆ ในยุคสมัยใหม่ พอองค์ความรู้ทางด้านโรคเกี่ยวกับเบาหวานหรือเกี่ยวกับการกินมันเพิ่มมากขึ้นแล้ว คนรุ่นใหม่ก็ตระหนักในเรื่องพวกนี้ เราก็คิดว่ามันน่าจะมีคนที่รักสุขภาพเหมือนเรา แล้วก็คนที่รักไอศกรีมเหมือนเรา เราก็อยากจะทำออกไปให้กับคนที่คล้ายๆ เรากิน ถ้าเราอร่อย เขาก็ต้องอร่อยเหมือนเราด้วย” สันติสุขกล่าว
14 รสชาติของคนรักสุขภาพ
ไม่ใช่แค่การเป็นไอศกรีมไม่ผสมน้ำตาลเท่านั้น จุดเด่นของ Flavorful No Sugar Ice Cream คือไอศกรีมถึง 14 รสชาติ ที่ประกอบด้วยรสชาติคลาสสิกยอดนิยม และรสชาติใหม่ที่สันติสุขและสิริกัญญาคิดค้นขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็น Cottage & Parmesan Crunch ไอศกรีมรสชีสหอมกรุ่น โรยด้วยขนมปังกรอบ Celery Mint & Green Apple ไอศกรีมรสคื่นช่ายผสมมินต์และแอปเปิ้ลเขียว ที่ให้ความสดชื่นและรสชาติแปลกใหม่ เอาใจคนชอบกินผัก หรือ Fig & Cinnamon ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างลูกฟิกกับอบเชย ได้รสชาติหอมหวานจนแฟนคลับหลายคนต้องอวยยศให้
“ผมชอบรสชีสครับ ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นซิกเนเจอร์ของร้าน เพราะว่าเป็นรสที่คิดขึ้นมาเอง เป็นการผสมระหว่างคอตเตจชีสกับพาร์เมซานชีส ซึ่งจะได้กลิ่นหอมเหมือนที่เราใช้โรยพิซซ่า แล้วก็จะมีครัมเบิล เวลาเคี้ยว อร่อยครับ” สันติสุขพูดถึงไอศกรีมรสโปรดที่เขามักจะแนะนำลูกค้าอยู่เสมอ
“ส่วนเราชอบรสคื่นช่าย ก็คิดขึ้นเองเหมือนกัน จากพื้นฐานของคนที่ไม่ได้ชอบกินคื่นช่าย อยากทำให้พี่โอ๊คกินแหละ พูดง่ายๆ เนี่ย ลดความดัน มีประโยชน์นะ แอปเปิ้ลก็ลดความอ้วน ก็ลองทำดู แล้วก็จะดูว่าตัวเองกินได้ไหม ถ้าตัวเองกินได้ก็แปลว่าอร่อย เพราะว่าเราไม่ชอบไง ทำครั้งแรก อุ๊ย... กินได้ เอาเลยรสนี้ เอาเลย” สิริกัญญาเล่าบ้าง
สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในการทำไอศกรีม สิริกัญญาเป็นผู้คัดเลือกด้วยตัวเอง เนื่องจากเป็นคนที่จริงจังกับเรื่องอาหารการกิน บวกกับมีมิตรสหายที่เป็นเจ้าของแหล่งผลิตวัตถุดิบอยู่เกือบทั่วประเทศ ทั้งลูกฟิกจากฟาร์มออร์แกนิกของเพื่อนใน จ.ฉะเชิงเทรา เม็ดมะม่วงหิมพานต์จากบ้านเพื่อนที่อุตรดิตถ์ ทำให้สามารถคัดเลือกวัตถุดิบปลอดสารพิษและมีคุณภาพได้พอสมควร
“มีรสข้าวเหนียวดำ-ถั่วดำ เราก็สั่งข้าวจากกลุ่มชาวนาไทยอีสาน ที่เขาเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ปลูกข้าวแบบปลอดสารพิษ แล้วเขามีพันธุ์ข้าวที่เราจะไม่ค่อยได้ยินกันในชีวิตประจำวันปกติ เช่น เราใช้ข้าวเหนียวดำสีลาภรณ์ ซึ่งจะมีกลิ่นของข้าวเหนียวดำที่ชัดมาก เหมือนกินขนมเลย” สันติสุขกล่าวเสริม
นอกจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพแล้ว Flavorful No Sugar Ice Cream ยังมีจุดแข็งที่ความสดใหม่ โดยจะรับออร์เดอร์ทุกสัปดาห์ และไม่ทำสต็อกไอศกรีม เพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสรสชาติแสนอร่อยเหมือนเพิ่งออกมาจากเครื่องปั่น
“ถ้าได้ชิมไอศกรีมตอนที่มันปั่นออกมาจากเครื่องใหม่ๆ มันอร่อยมากๆ เลยน่ะ เราอยากจะให้ลูกค้าได้ทานไอศกรีมที่มีรสชาติใกล้เคียงที่สุดกับตอนที่ปั่นเสร็จใหม่ๆ อย่างน้อยก็ปั่นเสร็จ 2 – 3 วัน ก็ถึงมือลูกค้าแล้ว เราอยากให้ได้ความสดใหม่แบบนั้น” สันติสุขเล่า
ธุรกิจที่เริ่มจากความรัก
เมื่อถามถึงข้อดีของการเริ่มทำธุรกิจจากสิ่งที่รัก สิริกัญญากล่าวว่า เธอรู้สึกมีความสุขกับการทำไอศกรีมเท่ากับตอนที่ทำงานหนังสือ ด้วยลักษณะงานที่ทำอยู่ในห้องเงียบๆ คนเดียวเหมือนกัน แม้ว่าจะเต็มไปด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อน ยุ่งยาก แต่เธอก็ค่อยๆ ทำได้
“พอทำแล้วก็รู้สึกว่าเดี๋ยวเราต้องคิดรสใหม่ๆ ขึ้นมาอีก เพราะว่าลูกค้าประจำเรากินครบทุกรสแล้ว คืออยากจะแยกร่างเพื่อทดลองสูตรใหม่ รสใหม่ๆ ให้ได้มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้มีทางเลือกมากขึ้น” สิริกัญญากล่าว
ด้านคนรักไอศกรีมสุดหัวใจอย่างสันติสุขก็กล่าวว่า เขารู้สึกรักไอศกรีมมากขึ้น ด้วยรายได้และความสนุกสนานในการเรียนรู้เรื่องการตลาดออนไลน์ ที่เขาไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน
“เราทำการตลาดแบบ... จะใช้คำว่าลูกทุ่งก็ได้ ทำแบบใช้สัญชาตญาณ ใช้ความรัก ใช้ความจริงใจในการสื่อสารให้มากที่สุดครับ” สันติสุขกล่าว
อาหารสุขภาพควรเป็นเรื่องของทุกคน
แม้จุดประสงค์หนึ่งของการทำธุรกิจไอศกรีมไร้น้ำตาล คือการส่งต่อสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภค แต่สิริกัญญาก็ยอมรับว่า ไอศกรีมของเธอและสามียังไม่สามารถกระจายไปสู่คนทุกกลุ่มได้ ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากวัตถุดิบที่เป็นออร์แกนิกเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับอาหารสุขภาพประเภทอื่นๆ
“การดูแลสุขภาพมันก็เป็นต้นทุน อย่างเรื่องอาหารการกินที่ดี เป็นเรื่องออร์แกนิก ราคามันจะกระโดดมาอีกระดับหนึ่งเลย ซึ่งถ้าพวกนี้สามารถทำให้เป็นเรื่องปกติได้ ทุกคนก็จะมีโอกาสในการรักษาสุขภาพมากขึ้น คือไม่จำเป็นต้องเป็นคนรวยเท่านั้น ฉันถึงจะสุขภาพดี คนทั่วไปก็มีโอกาสจะสุขภาพดีได้เท่าๆ กัน”
“เราก็อยากจะขยายตลาดให้มันกว้างขึ้น ซึ่งมันหมายถึงว่าเราอยากทำให้ราคาถูกลง ซึ่งการที่จะทำให้ราคามันถูกลงได้ หมายความว่าเราต้องทำให้มันเป็นอุตสาหกรรมหรือเปล่า เราไม่แน่ใจ มันอาจจะกลับไปที่ว่า ถ้าภาครัฐมีนโยบายหรืออะไรที่เกี่ยวกับการสนับสนุนอาหารสุขภาพให้มันเป็นอาหารปกติได้ เราก็จะมีโอกาสที่จะเห็นผลิตภัณฑ์แนวนี้มากขึ้น ในราคาที่ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้” สิริกัญญาทิ้งท้าย
อัลบั้มภาพ 24 ภาพ