6 สาเหตุที่ทำให้ “คันหัวนม” และวิธีรักษา-ป้องกัน
คันนม เป็นอาการทางผิวหนังที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคผิวหนังอักเสบ อาการแพ้ การตั้งครรภ์ มะเร็งเต้านม หากสังเกตว่าตนเองมีอาการคันรุนแรง ผื่นแดง ผิวหนังบวมบริเวณรอบหน้าอก หรือหัวนม ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาได้อย่างทันท่วงที
คันนม คันหัวนม เกิดจากสาเหตุอะไร
คันนม เป็นอาการทางผิวหนังที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคผิวหนังอักเสบ อาการแพ้ การตั้งครรภ์ มะเร็งเต้านม หากสังเกตว่าตนเองมีอาการคันรุนแรง ผื่นแดง ผิวหนังบวมบริเวณรอบหน้าอก หรือหัวนม ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาได้อย่างทันท่วงที
สาเหตุที่ทำให้ คันนม คันหัวนม
อาการคันนม หรือคันหัวนม อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
-
ภาวะผื่นแพ้สัมผัส
เป็นภาวะที่เกิดจากผิวหนังสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น สารเคมีในผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำหอม สบู่ โลชั่น เส้นใยผ้า สภาพอากาศ น้ำร้อนหรือเย็นเกินไป จนอาจส่งผลให้ผิวแห้ง ระคายเคือง มีอาการคัน มีผื่นแดง ผิวแตกลาย ผิวหนังบวม
วิธีรักษาผื่นแพ้สัมผัส
ไม่ควรให้ผิวหนังบริเวณหน้าอกสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หากมีอาการคัน ผื่นขึ้น อาจใช้ยาบรรเทาอาการคันและป้องกันการติดเชื้อ เช่น ครีมไฮโดรคอร์ติโซน ครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ คาลาไมน์ ยาแก้แพ้แบบรับประทาน และใช้วิธีการประคบเย็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบเพื่อลดอาการบวม
-
การติดเชื้อที่ผิวหนัง
อาการคันนม คันหัวนม อาจเกิดจากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังส่วนหน้าอกติดเชื้อรา แบคทีเรีย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อหากผิวหนังแห้งแตก มีบาดแผล นำไปสู่อาการคันบวม ผิวหนังแดง รู้สึกเจ็บปวด นอกจากนี้ การติดเชื้อที่ผิวหนังยังอาจส่งผลให้เกิดโรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน ฝี โรคไฟลามทุ่ง โรคตุ่มพุพอง
วิธีรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง
คุณหมอจะกำหนดยารักษาตามสาเหตุของการติดเชื้อของผู้ป่วย ดังนี้
- สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทาน ทาเฉพาะที่ และฉีดผ่านทางหลอดเลือดดำ ตามดุลพินิจของคุณหมอ เช่น มิวพิโรซิน (Mupirocin) คลินดามัยซิน (Clindamycin) เตตราไซคลีน (Tetracycline) อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
- สำหรับรักษาการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคงูสวัด โรคเริม คุณหมออาจกำหนดยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir)
- สำหรับรักษาการติดเชื้อราอาจฟื้นฟูสภาพผิวหนังด้วยการใช้ครีม ขี้ผึ้งทาเฉพาะที่ หรือยาต้านเชื้อรารูปแบบรับประทาน เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ฟลูโคนาโคล (Fluconazole) อิทราโคนาโซล (Itraconazole)
-
การตั้งครรภ์
อาจส่งผลให้คันนม คันหัวนมได้ เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนการตั้งครรภ์อาจสูงขึ้น ทำให้เต้านมและผิวหนังบริเวณเต้านมขยาย มีรอยแตก นำไปสู่อาการคัน แสบร้อน เจ็บปวด บริเวณผิวหนังเต้านม บางคนอาจมีตุ่มนูน ผิวแห้ง ผิวเป็นรอยแดง หรือกลากขึ้นได้ด้วย
วิธีบรรเทาอาการคันนมสำหรับสตรีตั้งครรภ์
ควรเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังด้วยการใช้น้ำมันมะพร้าว น้ำมันลาโนลิน (Lanolin) รูปแบบโลชั่น ครีม ขี้ผึ้ง เป็นต้น หากอาการคันนมไม่ดีขึ้นหรือมีสัญญาณของการติดเชื้อรา เช่น มีผื่นแดง ผิวหนังเปื่อย ระคายเคือง คัน หรือแสบ ควรรับการรักษาทันที
-
ท่อน้ำนมอุดตัน
อาจเกิดจากมีน้ำนมแม่ตกค้างในท่อน้ำนม ส่งผลให้ท่อน้ำนมอุดตัน จนอาจทำให้ทารกมีปัญหาในการดูดนม หรือทารกอาจดูดนมแรงขึ้นจนคุณแม่รู้สึกเจ็บหัวนม ระคายเคือง และคันนมได้
วิธีรักษาภาวะท่อน้ำนมอุดตัน
ควรทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ เต้านม หัวนม และหมั่นปั๊มนม เพื่อป้องกันน้ำนมค้างในท่อน้ำนมจนท่อน้ำนมอุดตัน อีกทั้งควรแปะแผ่นซิลิโคนแช่เย็น หรือทาครีมลาโนลินบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบรรเทาอาการคัน ระคายเคือง
-
เข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน
ผู้หญิงที่เข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือนอาจมีฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำมันที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวลดลง นำไปสู่อาการผิวแห้ง ผิวบอบบาง และระคายเคืองได้ง่าย จนเกิดอาการคัน
วิธีบำรุงผิวหนังในช่วงวัยหมดประจำเดือน
อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ปราศจากน้ำหอมและ สารเคมีที่ทำให้ผิวระคายเคือง
-
โรคมะเร็งที่หัวนม (Paget’s disease of the breast)
เป็นโรคมะเร็งที่พบได้ยาก และไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเป็นผลมาจากเซลล์มะเร็งเคลื่อนที่ผ่านทางท่อน้ำนมไปยังบริเวณหัวนมและผิวหนังโดยรอบจึงก่อให้เกิดมะเร็งขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากอาการคัน หัวนมแดง ผิวบริเวณหัวนมเป็นขุย หยาบกร้าน รู้สึกมีก้อนแข็งใต้ผิวหนัง
วิธีรักษาโรคมะเร็งที่หัวนม
คุณหมออาจพิจารณาจากอาการและสภาพผิวหนังบริเวณหัวนม โดยอาจใช้วิธี การผ่าตัด ดังต่อไปนี้
- การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า (Mastectomy) การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า รวมถึงเอาเนื้อเยื่อไขมัน ท่อน้ำนม กล้ามเนื้อที่หน้าอก ปานนม และต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกด้วย
- การผ่าตัดเต้านมออกทั้ง 2 เต้า (Double Mastectomy หรือBilateral Mastectomy) หากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังเต้านมอีกเต้า เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม สมาชิกในครอบครัวเคยเป็นมะเร็ง คุณหมออาจแนะนำให้ผ่าตัดเต้านมออกทั้ง 2 เต้า
- การผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Lumpectomy) การผ่าเอาเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็งออก โดยยังคงเนื้อเยื่อที่ดีรอบ ๆ ไว้ และอาจจำเป็นต้องรักษาควบคู่กับการฉายรังสีหลังการผ่าตัด
- การเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด (Axillary Lymph Node Dissection: ALND) อาจใช้ในกรณีที่พบเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ มีความเสี่ยงที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งซ้ำ
- การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (Sentinel Lymph Node Biopsy: SLNB) การผ่าเอาชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ซึ่งเสี่ยงเกิดเซลล์มะเร็งได้มากที่สุดไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง หากพบว่าเซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายมายังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ต่อมนี้ อาจไม่จำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองต่อมอื่นอีก และอาจเป็นไปได้ว่ามีความเสี่ยงที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายมายังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ค่อนข้างน้อย
วิธีบรรเทาอาการคันนม คันหัวนม
วิธีบรรเทาอาการคันนม หรือคันหัวนม อาจมีดังนี้
- ประคบเย็นประมาณ 5-10 นาที จนกว่าอาการคันจะบรรเทาลง
- ทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังและควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนประกอบของน้ำหอมและสารเคมีที่ทำให้แพ้ ระคายเคือง
- อาบน้ำอุ่นหรือน้ำเย็นแทนการอาบน้ำร้อน และจำกัดเวลาอาบน้ำให้เหลือเพียง 10 นาที เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะผิวแห้ง ระคายเคือง หากเป็นแผลพุพอง หรือผิวไหม้แดด การอาบน้ำผสมข้าวโอ๊ตบดละเอียดอาจช่วยบรรเทาอาการและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวได้
- หลีกเลี่ยงการเการุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง ถลอก หรือเกิดแผล และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ผิวหนัง
- สวมเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย และไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อป้องกันอาการคันรุนแรง
- หลีกเลี่ยงการเผชิญสภาพอากาศเย็น หรืออากาศแห้ง เพราะอาจทำให้ผิวแห้ง คัน ระคายเคือง และเสี่ยงเป็นโรคสะเก็ดเงิน