อาหารเสริมฟรุคโตส ดีต่อร่างกาย หรือเสี่ยงโรคมากกว่าเดิม?
เฟซบุ๊คเพจ Drama-Addict กล่าวถึง “ฟรุคโตส” ที่ผสมอยู่ในอาหารเสริมเพื่อสุขภาพชื่อดัง หลังจากที่มีข้อพิพาทกันระหว่างนักเพาะกาย และเจ้าของอาหารเสริม ว่าน้ำตาลอย่างฟรุคโตส จะดีต่อสุขภาพได้อย่างไร
ดังนั้น เรามาทำความรู้จักน้ำตาลฟรุคโตสกันให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ
“ฟรุคโตส” คืออะไร
ฟรุคโตส เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวชนิดหนึ่ง (เหมือนกลูโคส) มักพบในแหล่งอาหารตามธรรมชาติ เช่น ผลไม้ น้ำผึ้ง หรือคอร์นไซรัส (แบะแซ) ที่ต่างประเทศมักนำมาประกอบอาหาร
ฟรุคโตส แตกต่างหรือเหมือนกันกับ กลูโคส?
ถึงแม้จะเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวเหมือนกัน แต่กระบวนการในการนำไปใช้เป็นพลังงานของร่างกายต่างกัน
เซลล์ในร่างกายสามารถดึงกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานได้เลย
แต่ฟรุคโตส กว่าจะได้เป็นพลังงานเพื่อนำไปใช้ในร่างกาย ต้องผ่านกระบวนการที่ “ตับ” เสียก่อน
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบความหวานในปริมาณที่เท่ากันแล้ว ฟรุคโตสจะมีความหวานมากกว่า
ฟรุคโตส ในอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
แต่เดิมมีความเชื่อกันว่า ฟรุคโตสไม่ค่อยมีผลต่อระดับของฮอร์โมนอินซูลินในเลือดเหมือนกับกลูโคส ดังนั้นเราจึงเห็นผู้ผลิตใช้ฟรุคโตสเป็นส่วนผสมในอาหารเสริมเพื่อสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานแทนการใช้กลูโคส โดยมีงานวิจัยออกมาว่า กลุ่มที่ทานฟรุคโตสแทนกลูโคส คุมน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่า
แต่ในเวลาต่อมา มีงานวิจัยงานวิจัยหลายฉบับพบว่า หากทานฟรุคโตสมากเกินไป จะทำให้ตับมีปัญหา อาจเกิดไขมันพอกตับ จนถึงขั้นตับแข็งได้ ที่สำคัญคือ แม้แต่ฟรุคโตสเองก็มีผลต่อระดับอินซูลิน และฮอร์โมนเลปตินในเลือด ทั้งยังส่งผลให้อ้วนมากขึ้น ไขมันในเลือดสูง และเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้หากทานมากเกินไป
อาหารเสริมที่ใส่ฟรุคโตส เป็นอันตรายต่อร่างกาย?
ต้องมาดูกันอีกทีว่า สัดส่วนต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเป็นอย่างไร หากทานอาหารเสริมเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ หรือเพิ่มน้ำหนัก เลือกปริมาณฟรุคโตส 2-4% ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ก็ยังถือว่าปลอดภัยต่อร่างกาย
ดังนั้น ฟรุคโตสไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากไม่ทานมากจนเกินไป ดังนั้นควรทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อรับปริมาณน้ำตาล และสารอาหารอื่นๆ ในปริมาณที่พอดีต่อร่างกาย ไม่ขาดสารอาหาร และช่วยสร้างบำรุงร่างกายในส่วนต่างๆ อย่างสมบูรณ์ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊คเพจ Drama-Addict
ภาพประกอบจาก istockphoto