4 อันตรายจากการ “ดื่มกาแฟ” มากเกินไป
ดื่มกาแฟมากเกิน 4 แก้วต่อวัน อาจส่งผลกระทบกับ 4 ระบบสำคัญของร่างกาย แนะ ควรดื่มกาแฟแต่พอดี เลือกกาแฟดำที่ไม่มีส่วนผสมอื่นจะได้ประโยชน์กับร่างกาย ไม่ควรดื่มกาแฟขณะท้องว่าง และไม่ดื่มร่วมกับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนชนิดอื่น หลังดื่มกาแฟควรตามด้วยน้ำเปล่า เพื่อป้องกัน ภาวะขาดน้ำและการตกค้างของคาเฟอีนในร่างกาย
คาเฟอีนในกาแฟ และเครื่องดื่มต่างๆ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า คนวัยทำงานนิยมดื่มกาแฟ เพื่อให้ตื่นตัว สดชื่น ลดความง่วง เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า ในช่วงเช้าหรือระหว่างวัน ทำให้มีพฤติกรรมเคยชินในการดื่มกาแฟ จึงอาจเผลอดื่มมากเกินไป นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับคาเฟอีนจากแหล่งอาหารอื่นที่ไม่ใช่กาแฟร่วมด้วย เช่น น้ำชา น้ำอัดลม โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง
ปริมาณคาเฟอีนที่ปลอดภัยกับร่างกาย
ผู้ใหญ่สามารถบริโภคคาเฟอีนได้ โดยควรรับในปริมาณที่เหมาะสมจากเครื่องดื่ม และอาหารต่างๆ แนะนำให้จำกัดปริมาณคาเฟอีนที่ได้รับในแต่ละวันไม่เกิน 300-400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับกาแฟ 3-4 แก้ว หากร่างกายได้รับคาเฟอีนในปริมาณมากเกินไปหรือเรียกว่าการบริโภคคาเฟอีนเกินขนาด (Caffeine Overdose) จะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังนี้
- อันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง จะทำให้มือสั่น นอนไม่หลับ เกิดความวิตกกังวล ปวดศีรษะ บางครั้งอาจทำให้ชักได้
- อันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร จะเพิ่มการหลั่งของกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้ปริมาณน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ จึงควรหลีกเลี่ยงกาแฟทุกชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ
- อันตรายต่อระบบการไหลเวียนโลหิต คาเฟอีนกระตุ้นหัวใจ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต อาจเพิ่มความดันโลหิตชั่วคราว โดยเฉพาะในผู้ที่ปกติไม่บริโภคคาเฟอีน กลุ่มที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่เดิม ภาวะความดันโลหิตสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ
- อันตรายต่อระบบทางเดินปัสสาวะ คาเฟอีนลดการดูดน้ำกลับ ตอนผ่านเข้าไปในไต ทำให้ไตขับน้ำออกมาเยอะขึ้น กระตุ้นให้เกิดการปัสสาวะบ่อยขึ้น แคลเซียมซึ่งเป็นสารก่อนิ่วชนิดหนึ่ง จะถูกขับออกมาพร้อมปัสสาวะ ในภาวะที่มีปริมาณผิดปกติ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยอาจก่อให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเกิดภาวะไตวาย
ดื่มกาแฟอย่างไร จึงจะปลอดภัยและส่งผลดีต่อร่างกาย
- ควรเลือกดื่มเป็นกาแฟดำไม่ใส่นมและน้ำตาล เลือกสั่งแบบหวานน้อย หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ที่ปรากฏบนซองหรือบรรจุภัณฑ์สินค้า
- หากต้องการจำกัดไขมันหรือน้ำตาล อาจเลือกเป็นสูตรแคลอรีต่ำ หรือสูตรไม่มีน้ำตาล จะช่วยให้สมองตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่า
- เมื่อดื่มกาแฟเย็นแล้วควรลดอาหารหวาน มัน และของทอด ในมื้ออาหารหลักลง
- ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ อาจเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน เนื่องจากสูญเสียแคลเซียมออกจากร่างกายทางปัสสาวะ จึงควรกินอาหารที่มีแคลเซียม จากแหล่งอื่นร่วมด้วย เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว เป็นต้น
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ดื่มน้ำเปล่าสะอาด 8-10 แก้วต่อวัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน