ปวดท้องแบบไหน เสี่ยง “ช็อกโกแลตซีสต์”
ผู้หญิงไทยเสี่ยงโรค "ช็อกโกแลตซีสต์" ภัยร้ายใกล้ตัว แนะปวดท้องน้อย อย่าปล่อยผ่าน รีบมารักษาก่อนสาย ย้ำรักษาไวหายได้ด้วยยา ไม่ต้องผ่าตัด
สูตินรีแพทย์ชื่อดัง พันตำรวจโท นายแพทย์อรัณ ไตรตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประจำโรงพยาบาลตำรวจ เจ้าของเพจ“อรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน” กล่าวในเสวนา Expert Treat Expert Talk 2022 ทาง Facebook Live หัวข้อ “ช็อกโกแลตซีสต์ ภัยร้ายใกล้ตัวที่ผู้หญิงควรรู้” ว่า ผู้หญิงควรสังเกตตัวเองว่ามีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังหรือไม่ เพราะอาจเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตซีสต์ โรคนี้เกิดได้อย่างไรหลายคนๆคงสงสัย เกิดมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกไปอยู่ผิดที่ จากปกติต้องอยู่ในโพรงมดลูก แต่ไปอยู่ในรังไข่ ซึ่งเราเรียกว่า เป็นช็อกโกแลตซีสต์ หากไปอยู่ในเนื้อมดลูกเกิดพังผืดมดลูก ทำให้มดลูกโต เรียกชื่อเฉพาะว่า อะดีโนไมโอซิส (adenomyosis)
อันตรายของช็อกโกแลตซีสต์
ช็อกโกแลตซีสต์ ถือเป็นภัยเงียบของผู้หญิง เนื่องจากมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งได้ หรือหากปล่อยทิ้งไว้นานช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงน้ำรังไข่ จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมีโอกาสแตกในท้อง เกิดการตกเลือดในท้อง
นอกจากนี้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่อาจไปเกิดในอวัยวะอื่นได้ด้วยตั้งแต่หัวจรดเท้า บางรายไปเกิดที่สมอง ตับ ปอด สะดือ หรือลำไส้ ในกรณีเกิดที่ปอด เวลามีประจำเดือนก็จะมีอาการหายใจไม่ออก พบว่าถ้าสะสมจนขนาดใหญ่ขึ้นอาจทำให้ปอดแตกได้ กรณีเกิดที่ลำไส้ ทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เพราะการขับอาหารผ่านลำไส้ไม่ดี เป็นต้น
สาเหตุของช็อกโกแลตซีสต์
สาเหตุของช็อกโกแลตซีสต์ มาจากการบีบตัวไหลย้อนกลับของประจำเดือนไปอยู่ในบริเวณต่างๆ ทำให้เกิดรอยโรค เกิดเป็นซีสต์ ก้อน ถุงน้ำ หรือที่พังพืด
ปวดท้องแบบไหน เสี่ยง “ช็อกโกแลตซีสต์”
ผู้หญิงจำเป็นต้องสังเกตตัวเอง ซึ่งอาการเด่นๆของโรคช็อกโกแลตซีสต์ ได้แก่
- ปวดประจำเดือนรุนแรง
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ (แต่บางกรณีไม่มีประจำเดือนก็ปวดได้)
- ปวดเรื้อรังติดต่อกัน 6 เดือนขึ้นไป
- มีบุตรยาก
- บางรายพบว่ามีหน้าท้องยื่นออกมามากคล้ายคนท้อง
- ปวดเวลามีเพศสัมพันธ์
หากมีอาการแบบนี้ต้องรีบมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัย
กลุ่มเสี่ยงโรคช็อกโกแลตซีสต์
ภาวะโรคเกิดได้ตั้งแต่วัยเด็กที่เพิ่งเริ่มมีประจำเดือน แต่บางคนไม่แสดงอาการมาก และไม่เคยตรวจ พอสะสมนานวันเมื่อไหร่ที่ร่างกายไม่แข็งแรง โรคก็จะปรากฏออกมา ดังนั้นเราจึงเห็นคนที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว ก็ยังเป็นโรคนี้ได้
วิธีรักษาโรคช็อกโกแลตซีสต์
สำหรับการรักษาโรคช็อกโกแลตซีสต์ สามารถทำได้ 2 วิธี คือ 1) การใช้ยากิน 2) การผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้กินยาก่อน ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนายารักษาไปมาก สามารถลดขนาดซีสต์ และรักษาอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพถึง 80% อย่างเช่นยากินที่เป็นฮอร์โมนโปรเจสติสเดี่ยว ที่ผลิตมารักษาโรคนี้โดยตรง เช่น ไดโนเจส (Dienogest) ซึ่งหากมาพบแพทย์เร็ว สามารถรักษาได้ด้วยการกินยา
ส่วนในบางรายต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาซีสต์ออก ช่วยลดอาการของช็อกโกแลตซีสต์ได้ อย่างไรก็ตามหลังผ่าตัดไปแล้ว ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสามารถรักษาโรคให้หายได้อย่างถาวร เพราะสาเหตุของโรคมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งผลิตเยอะเกินปริมาณที่บริเวณรังไข่ ในขณะที่การผ่าตัดโดยทั่วไปจะไม่ได้ตัดรังไข่ออก
ดังนั้นในรายที่เป็นชนิดรุนแรง และฝังลึกเข้าไปในอวัยวะต่างๆ หากผ่าตัดแล้วยังสามารถเป็นซ้ำได้ จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยหลังการผ่าตัด มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ 10% ต่อปี นั่นหมายถึงหากผ่าตัดไปแล้ว 5 ปีกลับมาเป็นซ้ำได้ถึง 50-60% ดังนั้นหลังการผ่าตัด คนไข้กลุ่มนี้ยังต้องกินยาที่รักษาโรคนี้โดยตรงอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันกลับมาเป็นซ้ำ สำหรับในรายที่ต้องการมีบุตร ไม่ต้องเป็นกังวล เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว สามารถมีบุตรได้
ดังนั้นหากมีอาการต่างๆ ที่เข้าข่ายเป็นช็อคโกแลตซีสต์ ผู้หญิงต้องรีบมาตรวจวินิจฉัย พบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยจากแพทย์ในระยะเริ่มต้น สามารถป้องกันไม่ให้โรคสะสมรุนแรง โดยแพทย์จะทำการตรวจประเมินด้วยวิธีอัลตราซาวด์ ดังนั้นผู้หญิงไม่ต้องกลัวและกังวล หากมีอาการควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว
โรคช็อกโกแลตซีสต์ ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวผู้หญิง หากปล่อยให้โรคลุกลาม จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้หญิงและกระทบการใช้ชีวิตได้ ดังนั้นหากมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยแม้เพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นเรื้อรังไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป รีบมาตรวจเพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที