ภาวะ “หนุ่มสาวก่อนวัย” ในเด็กเล็ก มีอะไรบ้าง อันตรายอย่างไร
มีอาการอะไรที่พ่อแม่สังเกตลูกได้บ้างว่า อาจกำลังเสี่ยงภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยได้ แล้วภาวะนี้อันตรายต่อเด็กอย่างไรบ้าง
ศ. ดร. นพ.วิชิต สุพรศิลป์ชัย แพทย์ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย คือ ภาวะที่เด็กมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่เร็วกว่าปกติ พบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย 10 เท่า
อันตรายของภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย
ข้อมูลจากโรงพยาบาลสินแพทย์ ระบุว่า ผลเสียของภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย มีดังนี้
- เกิดการเชื่อมปิดของกระดูกเร็วไป ทำให้หยุดสูงเร็ว ความสูงสุดท้ายเตี้ยกว่าศักยภาพทางพันธุกรรม
- ส่งผลกระทบต่อจิตใจ เด็กมักจะอายเพื่อน เกิดภาวะซึมเศร้า ถูกเพื่อนล้อ
- วุฒิภาวะที่ยังไม่พร้อมอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตัวเองได้ทั้งเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย
ลักษณะเบื้องต้นของภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย
ศ. ดร. นพ.วิชิต ระบุถึงลักษณะเบื้องต้นของภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย ทั้งชายแล้วหญิงเอาไว้ ดังนี้
- เด็กหญิง มีโตเต้านมหรือเต้านมขึ้นก่อนอายุ 8 ปี
- เด็กชาย มีอัณฑะขนาดใหญ่ก่อนอายุ 9 ปี
- เด็กหญิง มีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ปีครึ่ง
- มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ รักแร้ มีสิว มีกลิ่นตัว เด็กชายมีเสียงแตกร่วมด้วย
- ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขั้นตอนการวินิจฉัยของแพทย์
- เอกซเรย์กระดูก เพื่อดูอายุของกระดูก
- ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนในร่างกาย
- การตรวจอัลตราซาวนด์ สำหรับเด็กหญิง เพื่อวัดขนาดและดูลักษณะของมดลูกและรังไข่
- การตรวจคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) เพื่อหาความผิดปกติในสมอง
ดังนั้น พ่อแม่และผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตการเจริญเติบโต และความเปลี่ยนแปลงของร่างกายบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติ ควรรีบพบกุมารแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษา เพื่อให้บุตรหลานเติบโตได้อย่างปกติสุขเหมาะสมกับช่วงวัย