รู้จัก "พยาธิตัวกลมอะนิซากิส" พบในปลาทะเล อันตรายแค่ไหน

รู้จัก "พยาธิตัวกลมอะนิซากิส" พบในปลาทะเล อันตรายแค่ไหน

รู้จัก "พยาธิตัวกลมอะนิซากิส" พบในปลาทะเล อันตรายแค่ไหน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พยาธิที่พบได้ในปลาทะเล เช่น ปลาซาบะ ถ้าเจอเป็นตัวๆ ที่ปลา เรายังสามารถกินปลานั้นได้อยู่หรือไม่

พยาธิตัวกลมอะนิซากิส คืออะไร

พญ.พัชรพร เตชะสินธุ์ธนา ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า พยาธิตัวกลมอะนิซากิส เป็นพยาธิที่พบในปลาทะเลเขตอบอุ่น และเขตร้อน 

ระยะตัวอ่อนของพยาธิที่ติดต่อสู่คนจะอยู่ในอวัยวะภายในช่องท้องของปลาทะเล มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ขนาดยาวประมาณ 1-2 ซม. กว้างประมาณ 0.3-0.5 มม. บริเวณปากจะมีหนามขนาดเล็ก บริเวณปลายหางจะมีส่วนแหลมยื่นออกมา พยาธิชนิดนี้จะใช้หนามขนาดเล็ก และใช้ปลายหางแหลมในการไชผ่านเนื้อเยื่อต่างๆ

ในประเทศไทยตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในปลามากกว่า 20 ชนิด เช่น 

  • ปลาดาบเงิน 
  • ปลาตาหวาน 
  • ปลาสีกุน 
  • ปลาทูแขก 
  • ปลากุแรกล้วย 
  • ปลาลัง 

เป็นต้น 

ส่วนในต่างประเทศจะพบในปลา เช่น 

  • ปลาคอด 
  • ปลาแซลมอน 
  • ปลาเฮอริ่ง 

อันตรายของพยาธิตัวกลมอะนิซากิส

พยาธิตัวกลมอะนิซากิส ขณะเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อสู่มนุษย์ บริเวณปากของพยาธิจะมีหนามขนาดเล็กและปลายหางแหลม ขณะเคลื่อนที่ไชในกระเพาะอาหาร และ ลำไส้ของคน ทำให้เกิดแผลขนาดเล็ก และ อาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ส่งผลให้ผู้ที่มีพยาธิชนิดนี้ในกระเพาะอาหารและลำไส้ มีอาการ ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด 

อาการมักไม่เฉพาะเจาะจงคล้ายกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร บางรายอาจมีอาการท้องเสีย หรือ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดถ้ามีแผลในกระเพาะขนาดใหญ่ อาการมักจะเริ่มเกิดหลังรับประทานอาหารที่มีพยาธิชนิดนี้ เป็นชั่วโมง หรือ เป็นวันก็ได้

อาการปวดท้อง บางครั้งอาจจะวินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือไส้ติ่งอักเสบได้บางรายอาจถ่ายออกมาเป็นมูกเลือดใน 1-5 วัน ผู้ป่วยอาจจะอาเจียนออกมา เป็นตัวพยาธิหรืออาจจะส่องกล้องเข้าไปในหลอดอาหารแล้วพบตัวพยาธิ

วิธีรักษา เมื่อมีพยาธิตัวกลมอะนิซากิส อยู่ในท้อง

การวินิจฉัยและการรักษา ทําโดยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ถ้าพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ก็คีบตัวพยาธิออกมา เนื่องจากตัวอ่อนพยาธิชนิดนี้ไม่สามารถเจริญเติบโตและวางไข่ในคน จึงตรวจไม่พบไข่ในอุจจาระ

ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาพยาธิชนิดนี้ แต่จากการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น โดยหัวหน้าทีมวิจัย โตชิโอะ ลิยาม่า พบว่า วาซาบิ มีฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิชนิดนี้ได้ แต่ขนาด และ ปริมาณการใช้ฆ่าพยาธิชนิดนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ถึงอย่างไรก็ตามการป้องกันการติดพยาธิชนิดนี้ ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ และ ดีที่สุด

กินปลาอย่างไร ไม่ให้เจอพยาธิ

  1. หลีกเลี่ยงการกินปลาดิบ จากแหล่งผลิตหรือแหล่งจำหน่ายที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการแช่แข็งเพื่อฆ่าพยาธิก่อน หรือฆ่าพยาธิได้ไม่ดีพอ ปลาดิบต้องแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 15 ชั่วโมง หรือ ต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 7 วัน
  2. หากเป็นปลาปกติที่กินสุก ต้องผ่านความร้อนมากกว่า 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 5 นาที ก่อนการประกอบอาหารจะทำให้พยาธิชนิดนี้ตายได้
  3. หากจะรับประทานปลาดิบ ควรดูให้แน่ใจก่อนว่าขั้นตอนการประกอบอาหารสะอาดถูกหลักอนามัย เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากปลาดิบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook