5 สาเหตุ "กลิ่นปาก" และวิธีรักษาด้วยตัวเองอย่างได้ผล
หากใครมีปัญหากลิ่นปาก ลองมาดูว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และรักษาด้วยตัวเองอย่างไร
ทพญ.ชนิดา ว่องเดชากูล แพทย์ฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า กลิ่นปาก มักทำให้ขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม ทำให้เสียบุคลิก จึงควรเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดกลิ่น โดยหาทางกำจัดและป้องกัน
สาเหตุของกลิ่นปาก
- สาเหตุภายในช่องปาก
- มีแผลในช่องปาก เช่น เนื้องอก แผลร้อนใน แผลที่เกิดขึ้นภายหลังการถอนฟัน หรือแผลที่เกิดจากการผ่าตัดในช่องปาก
- มีอาการอักเสบของอวัยวะปริทันต์ เช่น โรคปริทันต์ หรือเหงือกอักเสบ ที่เกิดจากมีคราบจุลินทรีย์ และหินน้ำลายสะสมเป็นจำนวนมาก
- รับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง ติดสะสมในช่องปาก
- มีน้ำลายน้อย ทำให้กลไกการชะล้างในช่องปากไม่ทั่วถึง คนที่มีน้ำลายปกติจะมีกลิ่นปากน้อยกว่า เพราะน้ำลายจะช่วยลดการบูดเน่าของอาหารที่ทำให้เกิดกลิ่นได้
- สูบบุหรี่ คนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นโรคภายในช่องปากมากกว่าคนปกติ และกลิ่นของบุหรี่ที่ตกค้างอยู่ในช่องปากผสมกับกลิ่นอื่นๆ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเฉพาะตัว
- สาเหตุภายนอกช่องปาก
- การดื่มน้ำน้อย เกิดการติดสะสมของอาหาร ตามเส้นทางเดินอาหาร
- กลิ่นเฉพาะของโรคทางระบบต่างๆ เช่น โรคไต เบาหวาน ไซนัสอักเสบ โรคทอนซิลอักเสบ โรคมะเร็งที่โพรงกระดูก โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร โรคปอดเรื้อรัง วัณโรคปอดหรือมะเร็งปอด โรคของระบบขับถ่าย
การป้องกันกลิ่นปาก
- ทำความสะอาดช่องปากให้ทั่วถึง ด้วยการแปรงฟัน แปรงลิ้น และทำความสะอาดซอกฟัน
- พบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน หรือเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง หรือทำความสะอาดช่องปากทันทีหลังรับประทานอาหาร
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- พบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี
การแก้ปัญหากลิ่นปาก โดยการใช้น้ำยาบ้วนปาก สเปรย์ หรือลูกอมรสมินต์ ช่วยลดกลิ่นปากได้แค่ชั่วคราว แต่ไม่ได้กำจัดสาเหตุที่แท้จริงออกไป ทำให้อาการของโรคถูกปิดบังจนอาจเกิดอาการรุนแรงได้โดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดของการรักษากลิ่นปาก คือ การค้นหาและกำจัดสาเหตุที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ต้องไม่ละเลยต่อการแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ และถูกวิธีเพื่อสุขภาพแข็งแรงและสะอาด