กินเผ็ด-ดื่มแอลกอฮอล์-น้ำอัดลม เสี่ยง "กระเพาะอาหารทะลุ" หรือไม่
กระเพาะอาหารทะลุ ฟังดูอาจเป็นอาการที่น่ากลัว แต่เกิดขึ้นได้จริงและสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แต่สามารถป้องกันได้ง่ายๆ ตั้งแต่เนิ่นๆ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้ดีขึ้น
รศ.พญ. รภัส พิทยานนท์ แพทย์ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า กระเพาะอาหารทะลุ เกิดจากการที่ผนังกระเพาะอาหารมีรูรั่ว ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
อาการกระเพาะอาหารทะลุ
อ.พญ.อวยพร เค้าสมบัติวัฒนา อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ระบุว่า หากกระเพาะอาหารทะลุแล้ว อาจมีอาการที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่อย่างรุนแรง
- ปวดจนแทบจะทนไม่ได้ จนต้องมาที่โรงพยาบาลทันที
อาการแตกต่างจากอาการปวดท้องโรคกระเพาะอาหารทั่วไป ที่ส่วนมากจะปวดแสบท้องในระดับที่ทนไหว และอาจดีขึ้นเมื่อกินยา
ปัจจัยเสี่ยงกระเพาะอาหารทะลุ
- รับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาหม้อ ยาลูกกลอน อย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร จนเกิดแผล และเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร หากแผลลึกออกส่งผลให้กระเพาะทะลุได้
- เป็นผู้ป่วยที่เคยมีแผลในกระเพาะอาหาร
หากมีสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร จะมีโอกาสเกิดแผลในกระเพาะอาหารซ้ำได้มากขึ้น จนกระเพาะอาหารทะลุได้
- มีอาการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร
มักเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ทำให้เกิดการอักเสบ และแผลในกระเพาะอาหาร
- เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กระเพาะอาหารชนิดโตเร็ว
อาจทำให้เกิดอาการกระเพาะอาหารทะลุได้ โดยเฉพาะช่วงที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
- สูบบุหรี่เป็นประจำ
การสูบบุหรี่เป็นประจำ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร จึงมีโอกาสเกิดแผลในกระเพาะอาหารซ้ำได้มากขึ้น จนกระเพาะอาหารทะลุได้
อาหารเผ็ด ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม เพิ่มความเสี่ยงอาการกระเพาะอาหารทะลุได้หรือไม่
การรับประทานอาหารเผ็ด ดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการกระเพาะอาหารทะลุ และไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดแผลในกระเพาะอาหารอีกด้วย
แต่การดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง ทำให้แอลกอฮอล์ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว เมื่อกระเพาะอาหารต้องดูดซึมแอลกอฮอล์อย่างหนัก อาจทำให้ระดับการป้องกันของกระเพาะอาหารทำงานไม่ทัน และเสี่ยงกระเพาะอาหารอักเสบได้ แต่ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือทำให้กระเพาะอาหารทะลุแต่อย่างใด
ในส่วนของน้ำอัดลม มีกรดและแก๊สอยู่ ดื่มแล้วอาจทำให้อึดอัดท้อง และกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบในคนที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วได้ แต่ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารทะลุแต่อย่างใด
วิธีป้องกันการเกิดกระเพาะอาหารทะลุ
- ระมัดระวังในการรับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาหม้อ ยาลูกกลอน ไม่ควรกินต่อเนื่องนานจนเกินไป หากอาการที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาที่ตรงจุดกว่า
- รักษาแผลในกระเพาะอาหารให้ดีขึ้น
- เลือกรับประทานอาหาร และน้ำดื่มที่สดใหม่ สะอาด
- งดสูบบุหรี่