ทำไมเราถึง “ปวดก้นกบ” และรักษาอย่างไร
ปวดก้นกบ อาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่น วัยทำงาน สาเหตุมาจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดในบริเวณกระดูกก้นกบ สามารถรักษาให้หายได้ด้วยตนเอง หรือหากมีอาการหนักสามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกัน
กระดูกก้นกบ คืออะไร
ผศ.(พิเศษ) นพ.นรา จารุวังสันติ แพทย์ฝ่ายออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า กระดูกก้นกบ เป็นกระดูกที่อยู่บริเวณปลายสุดของกระดูกสันหลัง ทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักขณะนั่ง หรือการเอนตัวไปด้านหลัง ประกอบไปด้วยกระดูกอ่อน 3-5 ชิ้น เรียงตัวกัน โดยมีกล้ามเนื้อระบบขับถ่ายและเส้นเอ็นมายึดเกาะ
สาเหตุของอาการปวดก้นกบ
- เคยเกิดอุบัติเหตุ หกล้มก้นกระแทกพื้น
- การตั้งครรภ์
- การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่ใช้บริเวณกันกบหนัก เช่น การปั่นจักรยาน การพายเรือ
- การนั่งในท่าที่ไม่ถูกอิริยาบถ หรือนั่งท่าเอนหลังในระยะเวลานาน
- โรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวน้อย
- การติดเชื้อ มีเนื้องอก ซึ่งอาจเป็นการบ่งบอกถึงโรคมะเร็ง
อาการปวดก้นกบ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณปลายสุดของกระดูกสันหลังเล็กน้อยไปจนถึงปวดรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถ หรือขับถ่ายหรือเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และอาจจะมีภาวะอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมา เช่น ปวดหลัง วิตกกังวล นอนไม่หลับ
วิธีลดอาการปวดก้นกบด้วยตัวเอง
นพ. ชัยเดช สระสมบูรณ์ แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ด้านกระดูกสันหลัง ระบุถึงวิธีลดอาการปวดก้นกบ จากสาเหตุกระดูกก้นกบอักเสบหรือกระดูกก้นกบแตกหักร้าว ดังนี้
- ปรับท่าทางการนั่ง โดยโน้มตัวไปข้างหน้าแทนที่จะนั่งแบบเอนหลัง เหตุผลเพื่อป้องกันการกดทับของน้ำหนักตัวลงบนกระดูกก้นกบ
- นั่งบนหมอนหลุมหรือหมอนรูปโดนัท การใช้หมอนที่มีรูตรงกลางเพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดทับต่อกระดูกก้นกบ
- ประคบเย็น ภายหลังเกิดอุบัติเหตุใน 48 ชั่วโมงแรก ช่วยลดการอักเสบของกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบริเวณรอบกระดูกก้นกบได้
- ประคบร้อนและแช่น้ำอุ่น ควรทำหลังจากเกิดอุบัติเหตุไปแล้ว 48 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้ระบบไหลเวียนเลือดบริเวณกระดูกก้นกบดีขึ้น ช่วยให้อาการบาดเจ็บหายเร็วขึ้น
- กินยาลดอาการปวดและลดอักเสบ ถ้ามีอาการปวดมากแนะนำให้ปรึกษาแพทย์และพิจารณาใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น Ibuprofen Diclofenac Celebrex และ Arcoxia
- รับประทานอาการประเภทผักที่มีไฟเบอร์สูงหรือใช้ยาถ่ายประเภทที่ทำให้อุจจาระอ่อนตัว เพื่อลดความเจ็บปวดขณะขับถ่าย
- ทำกายภาพบำบัด โดยการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อพิจารณาการใช้อุปกรณ์ทางกายภาพเพื่อลดอาการปวดและอาการอักเสบของกระดูกก้นกบ
- หากทำทุกวิธีแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3 เดือน ควรพบแพทย์