สารพิษที่เพิ่มอัตราการเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง ตอนที่ 1
รศ.พญ.ปรียานุช แย้มวงศ์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
1. สารพิษจากเชื้อรา มีหลายชนิด ได้แก่ อะฟลาทอกซิน (aflatoxin) สเตอริกมาโตซีสติน (sterigmatocystin) โอคราทอกซิน เอ (achratoxin A) รูกูโลทอกซิน (rugutotoxin) และ ลูติโอสกัยริน (luteoskyrin) ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ ข้าวสุก ข้าวโพด ถั่วลิสง อาหารที่ถนอมโดยการตากแห้งที่มิได้ผ่าขบวนการอย่างถูกต้องมักจะมีเชื้อรา aspergillus, penicillium และสารพิษของมันปนเปื้อน คนไทยชายเป็นมะเร็งตับมากที่สุด ฉะนั้น ประชาชนควรได้รู้วิธีการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงสารพิษ ดังกล่าว
2. สารเอ็นในโตรโป (N-nitroso compounds) ได้แก่ ไนโตรซามีน (nitrosamines) และไนโตรซามีด (nitrosamides)เป็นสารที่เกิดจากของหมักดอง ระหว่างเกลือไนไตรท์ กับสารพวกเอมีนที่มาจากอาหารหรือยาหรือสารปราบศัตรูพืช สารพวกนี้ทำให้หนูพุกขาวเกิดมะเร็งที่ตับ, หลอดอาหาร, ระบบทางเดินหายใจ, ไต, ทางเดินอาหารและกระเพาะปัสสาวะ
3. สารก่อมะเร็งจากพืช ได้แก่ ไซเคซิน (cycasin) จากผลมะพร้าวเต่าหรือปรง อะเรไคดีน (arechidine) และอะเรโคลีน (arecoline) จากผลหมาก พทาควิโลไซด์ (ptaquilosside) จากผลผักกูด สมุนไพรที่ใช้เป็นประจำควรได้รับการตรวจสอบว่ามีสารก่อมะเร็งร่วมด้วยหรือไม่
4. สารเจือปนในอาหาร และน้ำดื่ม ได้แก่ สีผสมอาหาร ที่ไม่ถูกต้องตามาตรฐาน ของกระทรวงสาธารณสุข เช่น orange ll, Rhodamine B, Croceine scarlet 3B, Auramine, Melachite green, 4-Aminoazobenzene, Butter yellow ซึ่งเป็นสีที่ต้องห้ามทั้งหมด สีอนินทรีย์ที่ใช้ย้อมผ้า กระดาษและวัสดุต่างๆ ประกอบด้วยเกลือ สารตะกั่ว แคดเมี่ยมและปรอท สารชูรสต่างๆ เช่น ขันฑสกรหรือซัคคาริน (saccharin) ไซคลาเมท (cyclamate) สารเคมีที่ได้มาจากภาชนะ ได้แก่ สารโลหะหนัก สารไวนิลคลอไรด์โมโนเบอร์ (Vinyl chloride monomer)
5. สารที่เกิดจากการปรุงอาหาร ได้แก่ สารจำพวกโปลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAH หรือ Polycyclic aromatic hydrocarbons) ในอาหารพวกเนื้อ/ไขมันเผา ปิ้ง ย่าง ด้วยฟืนหรือถ่านไฟ และปลาหรือเนื้อรมควัน มักจะมีสารก่อมะเร็ง PAH เช่น benzo (a) pyrene, dibenz (a,h) anthracenc, benzo (a) anthracenc และ dienzo (a,h) pyrene
นอกจากนี้ยังมีสารจำพวกไพโรไลเซต (pyrolsates) ซึ่งมีหลายชนิดในอาหารพวกเนื้อที่ถูกปรุงหรือทำให้สุก โดยการเผา การปิ้ง การย่างที่มีอุณหภูมิสูงโดยตรงจนไหม้ดำเกรียม สารพวกนี้ ไดแก่ IQ, Mc-IQ, Trp-P-l, Glu-P-l และ Glu-P-L
6. มลพิษจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สารปราบศัตรูพืช ดีดีที คาร์บาเบท สารฆ่าหญ้า (2,4D,2,4,5 T, paraquat) สารโลหะหนัก แร่ใยหินหรือแอสเบสตอส เบอริลเลียม สารกัมมันตรังสีเหล่านี้ ทำให้เกิดมะเร็งทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม อาจผ่าขบวนการ "โซ่อาหาร" ย้อนกลับไปสู่ผู้ใช้หรือชั่วลูกหลาน
7. อาหารดิบที่อาจมีพยาธิ เช่น ปลาดิบ ปลาร้า ปลาจ่อม ปูเค็ม ซึ่งอาจมีพยาธิใบไม้หรือไข่ของมัน พยาธิทำให้เกิดมะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี ในชาวไทยภาคอีสานซึ่งรับประทานอาหารที่ทำจากสัตว์น้ำและไม่ถูกทำให้สุก ตัวพยาธิจะทนต่อการหมัก/ดอง ความร้อนเท่านั้น จะสามารถทำลายไข่และตัวพยาธิได้
8. ยาสมุนไพรที่มีสารหนูหรืออาร์เซนิก สารหนูทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง โดยการรับประทานอาหาร น้ำดื่มหรือยาแผนโบราณที่มีสารหนูที่เป็นส่วนประกอบ จึงพึงระวังโรคไข้ต่ำ ที่เกิดในประชาชนอำเภอร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช มีสาเหตุมาจากการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำดื่ม ซึ่งมาจากแหล่งน้ำในเหมืองแร่เก่า
9. กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน สารคาเฟอีนมีฤทธิ์ยับยังการช่วยซ่อมแซมโมเลกุล ดี เอ็น เอ (DNA repair) จึงทำให้เสริมฤทธิ์การทำลายทางพันธุกรรมของสารก่อกลายพันธุ์ และสารก่อมะเร็ง คาเฟอีนในขนาดสูงจะทำให้หนูเป็นมะเร็งตับอ่อน
10. เหล้าหรือเอทิลแอลกอฮอล์ มีหลักฐานมากมายที่แน่ชัดว่า เหล้าเป็นปัจจัยสำคัญทีทำให้เกิดโรคมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะ มะเร็งตับ, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งทางเดินอาหาร, เหล้าทำให้เกิดโรคไขมันคั่งในตับ และโรคตับแข็งก่อนที่จะเป็นมะเร็งตับ เหล้าเป็นทูเมอร์โปรโมเตอร์ เหล้าทำให้อัตราการเกิดมะเร็งช่องปาก คอหอย และกล่องเสียงในคนสูบบุหรี่สูงถึง 10-20 เท่า อัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งจะเพิ่มตามจำนวนครั้งของการดื่มและเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ในสุราที่ดื่ม
บทบาทของแอลกอฮอล์และบุหรี่ในการเกิดมะเร็งบริเวณศีรษะและคอนั้น เข้าใจว่าเนื่องจากสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการเผ่าไหม้ของบุหรี่เป็นตัวเริ่มต้น แลมี Alcohol เป็นตัวส่งเสริมให้สารพิษออก
ฤทธิ์ที่อวัยวะเป้าหมาย โดยแอลกอฮอล์มีบทบาท ดังนี้
1. แอลกอฮอล์ อาจมีหน้าที่เป็นตัวทำลายของสารพิษ
2. แอลกอฮอล์ อาจเป็นตัวทำให้ระบบทำลายสารพิษต่างๆ เสื่อมประสิทธิภาพลง ทำให้ปริมาณสารพิษตกค้างในร่างกายจนเกิดการสะสมแสดงความเป็นพิษออกมา
3. แอลกอฮอล์ ทำให้ระบบ metabolism ที่อวัยวะเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไป
4. แอลกอฮอล์ สามารถลดการดูดซึมสารอาหารสำคัญๆ รวมทั้ง vitamin ต่างๆ ที่ช่วยในการควบคุมการแบ่งตัวของcell epithelial ทำให้ metabolism ภายใน cell epithelial ของอวัยวะ
เป้าหมายมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลทำให้มีการกระตุ้นการเกิดพิษจากสารพิษในบุหรี่
11. บุหรี่ ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก และมะเร็งในทางเดินหายใจ อัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งขึ้นอยู่กับจำนวนบุหรี่ต่อวัน คนเป็นโรคมะเร็งปอดถึง 90 % ได้เคยสูบบุหรี่มานานก่อน ในควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งหลายชนิด ในการเผาผลาญบุหรี่อย่างสมบูรณ์จนได้ควันบุหรี่แล้ว จะได้สารเคมี > 3,000 ชนิด โดยมีสารก่อมะเร็งที่สำคัญชนิดหนึ่ง คือ เบนโซ (10) และสารเคมีที่ก่อกลายพันธุ์ และก่อการเกิดมะเร็งอื่นอีกมาก
- มีต่อตอนที่ 2-
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto