BEFAST สัญญาณเตือนของโรคเลือดสมอง

BEFAST สัญญาณเตือนของโรคเลือดสมอง

BEFAST สัญญาณเตือนของโรคเลือดสมอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การรู้สัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง เป็นขั้นตอนแรกในการป้องกันความรุนแรงที่อาจส่งผลให้สมองเสียหายถาวรหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นการรู้เท่าทันอันตรายจากโรคหลอดเลือดในสมอง คือสิ่งที่ทุกคนควรใส่ใจและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร

แพทย์หญิงพิมลพรรณ วิเลสสาระกูล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง ชั้น 2 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ถนนเเจ้งวัฒนะ (WMC) ระบุว่า โรคหลอดเลือดสมองหรือ “STROKE” เป็นภาวะที่คุกคามถึงชีวิตอย่างร้ายแรง เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบอุดตันหรือแตก ส่งผลให้สมองบางส่วนทำงานผิดปกติและสูญเสียการทำหน้าที่ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอัมพฤกษ์อัมพาต มักพบบ่อยในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ภาวะผิดปกติโรคหลอดเลือดสมองแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. กลุ่มสมองขาดเลือด พบประมาณร้อยละ 75 - 80 เป็นภาวะเลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง เนื่องจากเกิดการอุดตันของเส้นเลือด
  2. กลุ่มที่มีเลือดออกในสมอง พบประมาณร้อยละ 20 - 25 เป็นภาวะเลือดออกในสมอง เนื่องจากภาวะหลอดเลือดแตก มีอัตราเสียชีวิตสูง

ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
  • การสูบบุหรี่
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • ภาวะเครียด
  • โรคอ้วน

การรู้สัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมองสามารถช่วยชีวิต

เราสามารถสังเกตอาการ BEFAST ด้วยตนเองและคนใกล้ชิดได้ ดังนี้

B : BALANCE = อาการวิงเวียนศีรษะ เดินเซ เสียการทรงตัว ไม่สามารถทรงตัวได้
E : EYE = อาการตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็น
F : FACE = อาการปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว มุมปากตก
A : ARM = อาการแขน ขา อ่อนแรงครึ่งซีก ไม่มีแรงหรือชาอย่างเฉียบพลัน
S : SPEECH = อาการพูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง พูดไม่ออก พูดตะกุกตะกัก
T : TIME = เน้นความสําคัญของเวลา รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดภายใน 3 ชั่วโมง

การรักษาซึ่งในวันนี้จะเน้นเฉพาะกลุ่มสมองขาดเลือด

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ ถ้าผู้ป่วยมารับการรักษาเร็วเท่าใด โอกาสที่จะพิการหรือเสียชีวิตก็จะลดลงมากเท่านั้น โดยแพทย์จะทำการรักษาดังนี้

  • การใช้ยาละลายลิ่มเลือดทางเส้นเลือดดำ
  • ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องทำหัตถการเพื่อเอาลิ่มเลือดออก หรือในรายที่เป็นมากอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อรักษาอาการบวมของสมองและลดความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกมากขึ้น
  • การพักฟื้นผู้ป่วยจะต้องได้รับการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการสื่อสาร และการเคลื่อนไหว
  • การกินยาเพื่อป้องกันการเกิดเส้นเลือดสมองตีบซ้ำอย่างสม่ำเสมอ

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันสูง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • ไม่สูบบุหรี่
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ควรหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีเมื่ออายุมากขึ้น
  • พยายามควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติ
  • ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรได้รับการรักษาและกินยาอย่างสม่ำเสมอ

การดูแลเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และการรู้เท่าทันสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมองจึงมีความสำคัญอย่างมากเพราะทุกนาทีในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมองมีค่า สามารถช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิต รวมถึงความพิการในผู้ป่วยวิกฤติทางสมองให้เหลือน้อยที่สุด ดังนั้น หากมีสัญญาณเตือนของอาการต่างๆ เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะช่วยให้เราสามารถตรวจพบความผิดปกติหรือภาวะเสี่ยงที่จะเกิดโรคดังกล่าวได้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมหาเวลาตรวจเช็คสุขภาพสม่ำเสมอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook