ปฏิบัติตัวอย่างไร...ห่างไกลโรคฉี่หนู

ปฏิบัติตัวอย่างไร...ห่างไกลโรคฉี่หนู

ปฏิบัติตัวอย่างไร...ห่างไกลโรคฉี่หนู
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิบัติตัวอย่างไร...ห่างไกลโรคฉี่หนู

โรคฉี่หนูหรือเลปโตสไปโรซีสเป็นโรคของสัตว์ที่สามารถติดต่อมาสู่คนได้และเป็นโรคติดเชื้อที่พบได้ในทุกจังหวัดของประเทศไทย โดยจะพบประปรายตลอดทั้งปีแต่จะพบมากในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่มีน้ำท่วมขัง โดยเชื้อโรคจะขังอยู่ในน้ำเมื่อคนเดินลุยน้ำหรือลงแช่น้ำจึงมีโอกาสได้รับเชื้อนี้

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ เลปโตสไปร่า (Leptospira) ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์โดยสัตว์ที่เป็นแหล่งกักเก็บเชื้อโรค คือ หนูนา หนูท่อ หนูพุกหรือสัตว์ฟันแทะชนิดอื่นๆ โค กระบือ แพะ แกะ สุกร เป็นต้น ซึ่งเชื้อจะอยู่ในไตของสัตว์เหล่านี้ และจะถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ซึ่งเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะได้นานหลายเดือน สำหรับความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและปริมาณเชื้อที่ได้รับ

ระยะฟักตัว ระยะฟักตัวประมาณ 2 – 30 วัน เฉลี่ย 10 วัน เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลจะมีการแบ่งตัวเป็นจำนวนมากในกระแสเลือดและเนื้อเยื่อ จากนั้นจะแพร่ไปยังอวัยวะต่างๆ ส่งผลให้มีอาการของโรคเกิดขึ้น

การติดต่อ การติดต่อเชื้อสามารถติดต่อไปยังคนและสัตว์ โดย

เข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอก เยื่อเมือกต่างๆ เช่น ปาก ตาและจมูก หรือผิวหนังที่เปียกชุ่มเนื่องจากแช่น้ำอยู่นาน เช่น จากการทำนา หาปลา เดินลุยน้ำ เป็นต้น
การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
การหายใจเอาละอองของปัสสาวะหรือของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
อาการ ในคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของเชื้อที่ได้รับ แต่อาการที่พบบ่อยได้แก่ ไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรุนแรงโดยเฉพาะที่น่อง โคนขา หลังและท้อง ตาแดง เจ็บคอ ปวดท้อง มีผื่นที่เพดานปาก โลหิตจาง มีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ ตัวตาเหลืองในรายที่เป็นมากอาจมีหัวใจเต้นผิดปกติ หรือมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และอาจจะมีปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่ออกหรือถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด มีภาวะไตวายเฉียบพลันเกิดขึ้นและอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคเลปโตสไปโรซีสควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง การได้รับการรักษาโดยเร็วจะเกิดผลดีต่อผู้ป่วย
การรักษา แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะตามความรุนแรงของโรค และจะให้การรักษาตามอาการที่พบ เช่น ให้ยาลดไข้ถ้ามีไข้ ให้น้ำเกลือถ้ามีภาวะขาดน้ำ ให้เลือดถ้ามีเลือดออกมาก สำหรับผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคและสภาพของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มักจะหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์

การป้องกัน

กำจัดหนูทั้งในนาข้าวและที่อยู่อาศัย
หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำเป็นเวลานาน ผู้ที่มีอาชีพเสี่ยงต่อการเกิดโรคให้ป้องกัน โดยการใส่รองเท้าบู๊ตที่ทำด้วยยางเมื่อต้องลุยน้ำ หรือใส่ถุงมือยาง เมื่อต้องเก็บขยะ
ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน อย่าให้มีขยะ เศษอาหารตกค้างอันเป็นที่อยู่อาศัยของหนู
ภาชนะบรรจุอาหารและน้ำดื่มต้องมีฝาปิดมิดชิด ป้องกันไม่ให้หนูลงไปปัสสาวะได้
ดื่มน้ำต้มสุกและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน
ล้างมือภายหลังจับต้องเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ และสัตว์มีชีวิตทุกชนิด

เอกสารอ้างอิง

ชาญชุติ จรรยาสัณต์. (2541). โรคเลปโตสไปโรซีส. ใน กนกรัตน์ ศิริพานิชกร (บรรณาธิการ), โรคติดเชื้อ (หน้า 335 - 339 ).กรุงเทพ : บียอนด์เอ็นเทอร์ไพรซ์.

วิรงรอง หุ่นสุวรรณ วีรพงษ์ เดื่อมทั้น และต่อวงศ์ หลักชัย. (2544).โรคเลปโตสไปโรซีส. (พิมพ์ครั้งที่ 1 ) กรุงเทพฯ : กองปศุสัตว์ สัมพันธ์กรมปศุสัตว์

สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. (2544). ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป. (พิมพ์ครั้งที่ 3, ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน

เอกสารเรื่องเลปโตสไปโรซีส กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข

งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง นางรุ่งฤดี จิณณวาโส
พฤษภาคม 2549

จัดทำโดย : หน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร. 0-2201-2520-1
ออกแบบโดย : งานการศึกษาต่อเนื่อง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร. 0-2201-2256-7

 

ขอบคุณข้อมูล จาก http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/68

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook