ขัณฑสกร เสี่ยงมะเร็ง หรือแค่กลัวกันไปเอง?

ขัณฑสกร เสี่ยงมะเร็ง หรือแค่กลัวกันไปเอง?

ขัณฑสกร เสี่ยงมะเร็ง หรือแค่กลัวกันไปเอง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมัยยังเป็นเด็กประถม หลายๆ คน รวมทั้งตัวเราเอง อาจจะเคยได้ยินจากคุณครูว่า “ขัณฑสกร” เป็นสิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าใส่ลงไปในอาหาร เพื่อเพิ่มความหวาน ความกรอบของอาหารประเภทผลไม้ดอง และแนะนำว่าให้เลี่ยง อย่าทานเยอะ เพราะไม่ดีต่อร่างกาย แต่เราคนหนึ่งล่ะ ที่ลืมไปแล้วว่ามันไม่ดีอย่างไร

Sanook! Health เลยไปหาคำตอบมาให้ค่ะ ว่าแท้ที่จริงแล้ว ขัณฑสกร ทานได้หรือไม่ หรือมีอันตรายอย่างไร

 

ขัณฑสกร คืออะไร?

ขัณฑสกร เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลค่ะ สมัยนี้คงรู้จักกันในนามแอสปาแตมกันหมดแล้ว แต่ยุคก่อนที่จะมีแอสปาแตม มันเคยมีขัณฑสกรมาก่อน (ซึ่งก่อนหน้าขัณฑสกรก็มี ไซคลาเมตมาก่อนเหมือนกันนะ) ขัณฑสกรให้ความหวานสูงกว่าน้ำตาลถึง 300-700 เท่า พ่อค้าแม่ค้าเลยนำมาใช้ประกอบอาหารที่ต้องใช้น้ำตาลเยอะๆ อย่างกรณีผลไม้ดองรสหวานๆ นั่นก็ใช่เลย

ขัณฑสกร มีอีกชื่อหนึ่งด้วยนะ คือ ซัคคาริน

 

รสชาติของขัณฑสกร

รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของขัณฑสกรคือ หวาน หวานมากจนเลี่ยน หวานแหลมติดลิ้นเลยทีเดียว บางคนสัมผัสได้ถึงรสขมนิดๆ ด้วย

 

ทำไมบางคนถึงนิยมใช้ขัณฑสกรประกอบอาหาร?

ไม่มีเหตุผลอะไรมากมาย นอกจากให้รสหวานจัด และราคาถูก อย่างข่าวน้ำส้มปลอมนั่นก็ใช่ อารมณ์เดียวกับที่ร้านต้มยำใช้มะนาวปลอมแทนมะนาวจริงนั่นแหละ รสชาติก็ไม่อร่อยเท่ามะนาวจริงอยู่แล้ว แต่พอกล้อมแกล้มไปได้ นอกจากนี้ขัณฑสกรยังเคยถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร และเครื่องดื่มลดความอ้วน หรืออาหารสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน เพราะเป็นสารที่ให้ความหวาน แต่ไม่ให้พลังงาน

 

ขัณฑสกร เป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่?

และแล้วก็มาถึงหัวข้อที่เหล่านักวิชาการถกเถียงกันมานาน แรกๆ ก็บอกว่าปลอดภัย แต่หลังๆ ก็มีงานวิจัยออกมาต่อต้านว่า ขัณฑสกรสามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะของสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่บอกว่าขัณฑสกรสามารถทำลายเซลล์ตัวอ่อนขณะที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ในท้องแม่ได้อีกด้วย

 

ขัณฑสกร ผิดกฎหมายในประเทศไทยหรือไม่?

อันที่จริงแล้ว ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามใช้ขัณฑสกรเป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่มอยู่นะคะ แต่ทาง อย. เองก็ออกมายอมรับว่า การตรวจสอบอาหารที่ผสมขัณฑสกรตามท้องตลาดเป็นเรื่องค่อนข้างยาก จะพิสูจน์ได้ก็ต่อเมื่อนำไปทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ดังนั้นประชาชนก็ควรเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือด้วย

 

วิธีสังเกต ขัณฑสกร

จริงๆ แล้วขัณฑสกรสังเกตยากมากนะคะ เพราะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น หรือถ้ามีก็จางมากๆ สิ่งที่เราสังเกตได้ด้วยตา คือ ผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะดูเป็นผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบ ไม่ใช่ของจริง เช่น น้ำส้มก็จะสีส้มสดสวยเข้มจนเกินไป เพราะเป็นน้ำส้มปลอมที่ใส่ขัณฑสกร และผสมสี หากเป็นเรื่องรสชาติ ก็จะเป็นรสชาติหวานจัด หวานจนติดลิ้น และอาจมีปลายรสขมเล็กน้อย

 หากอยากทานผลไม้ดอง ผลไม้ชิอิ่ม น้ำส้มคั้น และอื่นๆ ที่มีรสหวาน ควรสังเกตตัวผลิตภัณฑ์ให้ดี และหากเป็นไปได้ เลี่ยงของหวานหนักๆ ได้ก็จะดีมากค่ะ เพราะนอกจากปเนการเลี่ยงขัณฑสกร เลี่ยงน้ำตาลได้แล้ว ยังถือเป็นการรักษาสุขภาพไปอีกทางหนึ่งด้วยนะคะ

 

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก FDA Thai, สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล, หมอชาวบ้าน
ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook