พบ “ซูเปอร์บั๊ก” เชื้อดื้อยาทุกชนิด เสี่ยงโลกเข้าสู่ยุคแพทย์รักษาโรคไม่ได้
โรคร้ายไม่เคยปราณีมนุษย์ นอกจากโรคมะเร็ง และอีกหลายๆ โรคที่คอยคร่าชีวิตมนุษย์ไปหลายคน โดยที่บางครั้งแพทย์ก็ไม่อาจยื้อชีวิตเอาไว้ได้แล้ว ยังมีเชื้อแบคทีเรีย ที่ทนทานต่อการรักษา ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะที่มนุษย์สร้างขึ้นอีก จนแพทย์หวั่นว่าเราอาจจะใกล้เข้าสู่ยุคหลังยาปฏิชีวนะ หรือยุคที่การแพทย์ไม่อาจรักษาโรคได้อีกต่อไปหรือไม่?
“ซูเปอร์บั๊ก” เป็นชื่อเรียกเหล่าเชื้อโรคทั้งหลาย ที่ดื้อยาปฏิชีวนะทุกชนิด แพทย์ที่สหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยหญิงสาวอายุ 49 ปี ที่มีอาการติดเชื้อ ที่มีชื่อว่า อีโคไล ในทางเดินปัสสาวะ แพทย์ใช้ทุกยาที่มีแม้กระทั่ง “โคลิสติน” ที่เป็นตัวยาสุดท้ายที่แพทย์จะเลือกใช้เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียในร่างกายมนุษย์ และผู้ป่วยท่านนี้ไม่เคยเดินทางออกนอกสหรัฐในระยะ 5 เดือนที่ผ่านมา แพทย์จึงยังไม่ทราบว่าเธอติดเชื้อนี้มาได้อย่างไร จึงสันนิษฐานได้ว่ากำลังตอ่สู้อยู่กับ “ซูเปอร์บั๊ก”
นอกจากผู้ป่วยรายนี้ แพทย์ยังเคยพบเชื้อโรคแบบ “ซูเปอร์บั๊ก” ในประเทศอื่นๆ นอกจากสหรัฐอเมริกาอีก เช่น บางประเทศในยุโรป แคนาดา และจีน โดยซูเปอร์บั๊กที่พบในปัจจุบัน มาจากการัฒนาของเชื้ออีโคไล ที่มักทำให้เกิดอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหาร และทางเดินปัสสาวะ และ เชื้อเครบซีลลา นิวโมอินี ที่มักทำให้เกิดอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ แต่อันที่จริงแล้ว ซูเปอร์บั๊ก จะเป็นเชื้อโรคใดๆ ที่กลายพันธุ์ก็ได้
กระทรวงเกษตรของสหรัฐยังพบเชื้ออีโคไล ที่ดื้อยาโคลิสติน ในลำไส้ของหมูอีกด้วย ทั้งสองเหตุการณ์นี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) จึงสรุปได้ว่า นี่อาจเป็น “สัญญาณเตือน” ถึงภัยอันตรายของยุคหลังยาปฏิชีวนะ กล่าวคือ ยุคที่มนุษย์เราจะเริ่มบาดเจ็บล้มตาย จากการติดเชื้อโรคเพียวน้อยนิด และแพทย์ไม่อาจทำการผ่าตัดรักษาโรคต่างๆ ได้ เพราะยาฆ่าเชื้อไม่สามารถป้องกัน และฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไปนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า กว่าครึ่งของผู้ป่วยที่พบเชื้อดื้อยาทุกชนิด ต้องเสียชีวิตจากการที่แพทย์ไม่สามารถหาทางรักษาได้
สำหรับในสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ไม่สามารถพบยาที่ต้านเชื้อโรคได้เป็นจำนวนถึง 2 ล้านคนในแต่ละปี และพบผู้เสียชีวิตราว 23,000 คนในแต่ละปีจากการติดเชื้อที่รักษาไม่ได้เหล่านั้นด้วยเช่นกัน
ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อซูเปอร์บั๊ก
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ หรือรับยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ภูมิแพ้ หรือผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ที่ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการดื้อยา
- ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ ที่เป็นแหล่งโรคติดต่อกำลังระบาด
ปัจจุบันแพทย์ยังหาทางต่อกรกับ ซูเปอร์บั๊ก ไม่ได้ สิ่งที่แพทย์ทำได้ คือการเร่งทำงานวิจัยให้มากขึ้น เพื่อหาทางต่อสู้กับเชื้อโรคที่กำลังต่อสู้กับมนุษย์ด้วยเช่นกัน
ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจาก CNN.com, haamor.com
ภาพประกอบจาก istockphoto (ภาพไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา)