5 ความเชื่อเรื่องสุขภาพผิดๆ ที่มากับละคร
บอกได้เต็มปากเต็มคำว่า สื่อมีหน้าที่สะท้อนสังคมก็จริง แต่ก็ต้องหน้าที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ถูกต้องให้ประชาชนได้ทราบกันด้วย ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเพียงละครก็ตาม แต่อย่างน้อยคนดูต้องได้รับสิ่งที่ผู้จัดต้องการจะสื่ออย่างชัดเจน ดังนั้นเป็นหน้าที่ของทีมงานที่ต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อให้ได้มาซึ่งบทละคร และการแสดงที่เป็นประโยชน์ต่อคนดู แม้จะเป็นเพียงละครเพื่อความบันเทิงก็ตาม
หลายเรื่องราวที่เกี่ยวกับสุขภาพ การแพทย์ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครในเรื่อง ทำให้คนดูจำและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ แต่ยังมีละครบางเรื่องที่ทำให้คนดูมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน จะเป็นเรื่องอะไรบ้าง Sanook! Health รวบรวมมาให้ค่ะ
1. ต่อเลือดสายตรง
เคยเห็นกันไหมคะ ที่พระเอก หรือแม้กระทั่งพระรองที่ยอมเสียสละตัวเอง นอนให้เลือดอยู่เตียงข้างๆ นางเอก น้ำตาคลอเบ้า พร้อมมีสายต่อส่งเลือดจากแขนพระเอก ไปสู่แขนนางเอกตรงๆ หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์ฮอลลีวูดบางเรื่องก็มีฉากนี้ (แต่เป็นภาพยนตร์แฟนตาซีเล็กๆ และสื่อถึงเรื่องราวของสมัยโบราณ) การให้เลือดแบบนี้มีแต่ในโบราณกาลที่ยู่ในช่วงการแพทย์ยังมีการลองผิดลองถูกกันอยู่ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดมาก
ปัจจุบันการให้เลือด ต้องมีการตรวจสอบจากทีมเทคนิคการแพทย์ ว่าเลือดของผู้ให้ สามารถเข้ากันได้กับเลือดของผู้รับหรือเปล่า เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า “Cross Matching” หากให้เลือดกับผู้ป่วยที่สุดท้ายเลือดเข้ากันไม่ได้ หรือหากให้เลือดผิดกรุ๊ปกันขึ้นมา ผู้ป่วยอาจเกิดอาการช็อคจนเสียชีวิตได้ค่ะ
2. ขันชะเนาะทันทีที่ถูกงูกัด แถมเอาปากดูดพิษงูออกมาให้ด้วย
นี่ก็เป็นอีกฉากหนึ่งในละครที่เมื่อนางเอกถูกงูกัด พระเอกต้องฉีกเสื้อ (ออกมาอย่างง่ายดาย) แล้วเอาผ้ามารัดเหนือแผลที่งูกัด รัดซะแน่นเลยล่ะ ยังไม่พอ หลายๆ เรื่องพระเอกลงทุนเอาปากประกบแผล ดูดพิษออกมาให้ด้วย เรียกได้ว่าเสี่ยงตายเพื่อนางเอกสุดๆ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ถูกต้องทั้งสองวิธีนะคะ การขันชะเนาะอาจเคยถูกสอนให้นักเรียนเข้าใจกันในสมัยก่อน แต่วิธีนี้ปัจจุบันไม่ใช้แล้ว เพราะเป็นวิธีที่อาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย หากรัดเหนือแผลแน่นเกินไป จะทำให้เลือดไม่ไหลเวียนผ่านบริเวณแผลเลย จนอาจเกิดความเสี่ยงที่เนื้อบริเวณนั้นจะตาย จนอาจต้องสูญเสียอวัยวะนั้นไปเลยก็ได้
นอกจากนี้การใช้ปากดูดพิษงูออกมาจากบาดแผล ก็อาจทำให้ผู้ที่ดูดพิษออกมา มีความเสี่ยงในการรับพิษเข้าร่างกายได้ง่ายๆ หากในปากมีบาดแผลอยู่ เช่น ฟันผุ ร้อนใน แผลกัดปาก หรือแผลในหลอดอาหาร
วิธีที่ถูกต้อง คือ ให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งๆ ให้แผลอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหัวใจ ห้ามกรีดแผลเพิ่มโดยเด็ดขาด และถ้าจะให้ดี จำชนิดของงู หรือลักษณะของงูที่กัดให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับเซรุ่มป้องกันพิษงูได้ถูกต้องค่ะ
3. ล้างพิษในท้องด้วย “ไข่ดิบ”
ล่าสุดมีละครเรื่องหนึ่ง ที่ตัวละครที่เป็นหมอ นำไข่ดิบ เกลือ โซดา ที่ผสมกัน กรอกใส่ปากผู้ป่วยที่กินยาพิษเข้าไป แถมกรอกปากในขณะที่ผู้ป่วยยังสลบไสลอยู่ด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดมากๆ ค่ะ เพราะเราไม่ควรกรอกอะไรลงไปในปากของผู้ป่วยในขณะที่ผู้ป่วยไม่มีสติ อาจทำให้ผู้ป่วยสำลัก และสิ่งที่เรากรอกเข้าไปในปากเขา อาจไหลลงปอด มากกว่าจะไหลลงกระเพาะอาหาร
และการพยายามทำให้ผู้ป่วยอาเจียน โดยที่ยังไม่ทราบว่าผู้ป่วยทานยาอะไรเข้าไป อาจทำให้ยาพิษนั้นย้อนกลับขึ้นมาทำร้ายหลอดอาหาร และอวัยวะภายในอีกครั้งก็ได้ (ในกรณที่ผู้ป่วยซดยาพิษประเภทที่เป็นกรด ด่างอย่างรุนแรง เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ)
4. คนจมน้ำ จับอุ้มพาดบ่า แล้วกระทุ้งท้อง
บางครั้งพอเห็นเป็นเด็กตัวเล็กๆ หรือนางเอกรูปร่างอ้อนแอ้น พระเอกก็โชว์แมน จับเด็กอุ้มพาดบ่า กระทุ้งท้องรัวๆ หวังจะให้เด็กคายน้ำที่อยู่ในปอดออกมา แต่จริงๆ แล้ววิธีนี้จะทำให้เด็กคายน้ำออกมาจากกระเพาะอาหารมากกว่า จึงเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง
วิธีที่ถูกต้องคือ ผายปอดด้วยวิธีเป่าปากช่วยหายใจ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่หายใจ และอาจสลับกับการทำ CPR การปั้มหน้าอกด้วยมือไปเรื่อยๆ เมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว หายใจเองได้ ให้จับผู้ป่วยตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปด้านหลัง เพื่อให้ผู้ป่วยสำลักน้ำบางส่วนออกมา และห่อตัวผู้ป่วยด้วยผ้าห่ม และหลังจากนั้นต้องส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลต่อทันที ไม่ว่าผู้ป่วยจะจมน้ำเล็กน้อย หรือหนักหนาสาหัสเพียงใดก็ตาม เพื่อให้แพทย์เช็คสภาพร่างกายอีกครั้ง
5. ผู้ป่วยโรคเอดส์ ต้องมีแผลพุพองทั่วร่างกาย
เป็นเอดส์ตายทีไร ต้องจบด้วยภาพแผลพุพองน้ำเหลืองไหลไปทั่วร่าง ทำให้ผู้คนยังคงหวาดกลัว และรังเกียจคนเป็นเอดส์ต่อไปไม่จบไม่สิ้น จริงๆ แล้วผู้ที่เป็นโรคเอดส์ ไม่จำเป็นต้องมีแผลเหวอะหวะเสมอไป อาการนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง จนติดโรคร้ายแรงขึ้นมา ซึ่งอาจจะไม่ใช่โรคที่เกี่ยวกับผิวหนังก็ได้ สามารถเป็นได้หมดทุกโรค
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเอดส์ หรือผู้ที่ติดเชื้อ HIV สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ตามปกติ เพราะปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่ได้ผลดี หากทานยาอย่างสม่ำเสมอ และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเป็นประจำ ก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เหมือนบุคคลอื่นทั่วไป แถมโรคนี้ยังติดต่อถึงกันได้เฉพาะการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยาง ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และจากแม่สู่ลูกเท่านั้น กอดจูบ ดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน ทานอาหารจากช้อนเดียวกัน หายใจใส่กัน และมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยาง ไม่ทำให้ติดโรคค่ะ
ยังมีอีกหลายจุดที่ละครหลายเรื่องยังพลาดในรายละเอียดเล็กๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ละครแพทย์ หรือที่เกี่ยวกับหมอโดยตรง แต่หากภาพเหล่านั้นติดตาติดในความทรงจำของผู้ชม จนจำไปใช้ในชีวิตประจำวันกันผิดๆ ด้วยความคิดที่ว่า “ก็เห็นมาจากในละคร” มันทำให้เราพวกเราคิดได้ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่สื่อมวลชนควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากกว่านี้
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก เฟซบุ๊ค หมอแล็บแพนด้า, เฟซบุ๊ค ใกล้มิตรชิดหมอ, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, เฟซบุ๊ค Tanbabasnake