อย. เผยผลสุ่มตัวอย่างปลาดิบและน้ำส้ม พบใส่สี-วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานจริง
อย. เผยผลตรวจวิเคราะห์ปลาดิบที่สุ่มเก็บจากร้านอาหาร ไม่พบสีสังเคราะห์ ส่วนน้ำส้มบรรจุขวด พบใส่สีเกินเกณฑ์ 1 ตัวอย่าง และวัตถุกันเสียเกินเกณฑ์ 1 ตัวอย่าง เพื่อความมั่นใจ แนะผู้บริโภคเลือกซื้อน้ำส้มที่มีฉลาก หากเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในร้าน รถเข็น หรือแผงลอย ซึ่งไม่ต้องมีการแสดงฉลาก ให้สังเกตสุขลักษณะ พร้อมทั้งสอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์โดยตรงจากผู้ขาย
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และโฆษก อย. เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวในโลกออนไลน์เกี่ยวกับปลาดิบย้อมสี และจากเหตุการณ์ลักลอบผลิตน้ำส้มบรรจุขวดจำหน่าย โดยไม่ถูกสุขลักษณะ นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำส้มและปลาดิบ ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยในการบริโภคอาหารให้แก่ผู้บริโภค
โดยในส่วนของปลาดิบ อย. ได้เก็บตัวอย่างจากร้านอาหาร 6 แห่ง จำนวน 6 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาสีสังเคราะห์ และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ผลการวิเคราะห์ ปรากฎว่า ไม่พบสีสังเคราะห์แต่อย่างใดส่วนเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ทั้งนี้ ในการบริโภคปลาดิบ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อปลาดิบที่มีสีตามธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาด ไม่มีกลิ่นและรสที่ผิดปกติ สังเกตสภาพของร้าน อาหาร จะต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ ผู้ปรุงอาหารมีสุขอนามัยที่ดี สำหรับกรณีของน้ำส้มบรรจุขวด อย. ได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำส้มที่จำหน่ายตามรถเข็น แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 12 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของสีสังเคราะห์ วัตถุกันเสีย วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ
ปรากฎว่าทั้ง 12 ตัวอย่างไม่พบข้อบกพร่องกรณีวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ แต่พบสีสังเคราะห์เกินเกณฑ์ 1 ตัวอย่าง และพบวัตถุกันเสียเกินเกณฑ์ 1 ตัวอย่าง ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ขายรับมาจำหน่ายทั้งหมด 7 ตัวอย่าง ซึ่งต้องมีการแสดงฉลาก แต่จากการตรวจสอบ พบว่า ไม่มีการแสดงฉลาก 6 ตัวอย่าง และแสดงฉลากไม่ถูกต้อง 1 ตัวอย่าง ซึ่ง อย. จะดำเนินการติดตามตรวจสอบสถานที่ผลิตให้เป็นไปตามเกณฑ์สุขลักษณะที่ดีในการผลิตต่อไป
ส่วนตัวอย่างที่เก็บจากผู้ผลิตในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและตัวอย่างที่ อย. เก็บร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างการรอผลวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และห้องปฏิบัติการสำนักงานชันสูตรสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในส่วนผู้บริโภค เพื่อความมั่นใจ ขอให้เลือกซื้อน้ำส้มบรรจุขวดที่มีฉลาก แสดงรายละเอียดที่สำคัญ ได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อที่ตั้งของผู้ผลิต สูตรส่วนประกอบที่สำคัญ วันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน ปริมาตรสุทธิ และ เลขสารบบอาหาร ในกรอบเครื่องหมาย อย. หากเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในร้าน รถเข็น หรือแผงลอย ซึ่งไม่ต้องมีการแสดงฉลาก ขอให้สังเกตสุขลักษณะ พร้อมทั้งสอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์โดยตรงจากผู้ขาย
ภาพประกอบจาก istockphoto