ปฏิบัติตัวอย่างไร...เมื่อธัยรอยด์เป็นพิษ
ปฏิบัติตัวอย่างไร...เมื่อธัยรอยด์เป็นพิษ
ธัยรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) หรือ ภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism) คือ ภาวะที่ต่อมธัยรอยด์มีการหลั่งฮอร์โมนธัยรอยด์ออกมาในกระแสเลือดมากผิดปกติ ซึ่งจะไปมีผลในการกระตุ้นเซลล์ต่างๆของร่างกายให้ทำงานมากผิดปกติ จึงเกิดความผิดปกติต่างๆเกิดขึ้นในร่างกาย
ต่อมธัยรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายอยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอใต้ลูกกระเดือก รูปร่างคล้ายเกือกม้าแบ่งเป็นปีกซ้ายและปีกขวา เชื่อมต่อกันด้วยคอคอดตรงกลาง ขนาดปกติจะใหญ่กว่านิ้วหัวแม่มือของเจ้าของต่อมเล็กน้อยและมองเห็นไม่ชัดเจน แต่ถ้าต่อมมีขนาดใหญ่กว่านี้ก็จะมองเห็นชัดว่ามีก้อนที่คอหรือมีคอโตเกิดขึ้น ต่อมธัยรอยด์ทำหน้าที่สร้างและหลั่งฮอร์โมนธัยรอยด์ออกมาสู่กระแสเลือดโดยใช้สารไอโอดีนจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปเป็นวัตถุดิบ
ฮอร์โมนธัยรอยด์ มีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด การเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะต่างๆทำงานเป็นปกติ รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึก
สาเหตุ
1. ออกมามากผิดปกติ
2. การอักเสบของต่อมธัยรอยด์จากระบบภูมิต้านทานของร่างกายเองหรือจากการติดเชื้อบางชนิด
3. การรับประทานฮอร์โมนธัยรอยด์เพื่อลดความอ้วน
อาการและอาการแสดง อาการที่พบ คือ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หิวบ่อย รับประทานจุหรือรับประทานได้ตามปกติแต่น้ำหนักลด ถ่ายเหลวบ่อยคล้ายท้องเดิน ผิวหนังละเอียดนุ่มอุ่นชื้น บางรายอาจมีฝ่ามือแดง ประจำเดือนผิดปกติ ต่อมธัยรอยด์โตหรือคอพอก ตาโปนออกมาหรือหนังตาหดรั้งขึ้นไปทำให้เห็นตาขาวข้างบนชัดจึงคล้ายเป็นคนตาดุ
การรักษา แพทย์จะพิจารณาจากอายุ สภาพของผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค โดยมีวิธีการรักษา 3 วิธี คือ
1. การรับประทานยา เพื่อลดการหลั่งฮอร์โมนธัยรอยด์จากต่อมธัยรอยด์ มีระยะเวลาในการรับประทานยาประมาณ 1 ½ - 2 ปี จากนั้นแพทย์จะแนะนำให้หยุดยา ซึ่งหลังจากหยุดยาแล้วส่วนใหญ่มักหายขาดแต่ส่วนน้อยอาจกลับมาเป็นโรคได้อีกต้องรักษากันใหม่ และขณะรับประทานยาหากมีอาการเจ็บคอร่วมกับมีไข้ มีแผลในปาก หรือมีต่อมน้ำเหลืองข้างๆคอโตหรือเจ็บให้หยุดยาทันทีและรีบไปปรึกษาแพทย์
2. การดื่มน้ำแร่ไอโอดีนกัมมันตรังสี สารรังสีนี้จะไปทำลายต่อมธัยรอยด์ที่ทำงานมากเกินไปซึ่งวิธีนี้จะใช้ในผู้ใหญ่ สำหรับผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ห้ามใช้วิธีนี้โดยเด็ดขาดเนื่องจากมีผลต่อเด็กในครรภ์ และหลังดื่มน้ำแร่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรู้วิธีการดูแลตนเองที่ถูกต้อง ซึ่งแพทย์หรือพยาบาลจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ
3. การผ่าตัด เป็นการตัดเอาต่อมธัยรอยด์บางส่วนออก วิธีนี้ได้ผลเร็วแต่อาจมีผลเสียได้ เช่นอาจตัดเอาต่อมธัยรอยด์ออกมากเกินไปทำให้ต้องรับประทานยาทดแทนฮอร์โมนธัยรอยด์ตลอดชีวิตหรืออาจตัดถูกต่อมพาราธัยรอยด์หรือเส้นประสาทกล่องเสียงได้ แต่ผลเสียเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยธัยรอยด์เป็นพิษ
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรรับประทานให้พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย
2. ดื่มน้ำมากๆ
3. พักผ่อนให้เพียงพอ
4. หลีกเลี่ยงความเครียด
5. รับประทานยาในเวลาเดียวกันสม่ำเสมอ เพื่อรักษาระดับยาในกระแสเลือด และต้องรับประทานยาติดต่อกันตลอดระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
6. ไม่ควรเปลี่ยนสถานที่ในการรักษาโดยไม่จำเป็นเพราะจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง
7. สังเกตอาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา
อ้างอิง
สาธิต วรรณแสง.(2531).คอพอก.(พิมพ์ครั้งที่ 1).กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
สาธิต วรรณแสง.(2540).ถาม-ตอบ.ใน ประเวศ วะสี(บรรณาธิการ),หมอชาวบ้าน (ปีที่ 19 ฉบับที่ 219,หน้า 55).กรุงเทพฯ : บริษัทพิมพ์ดี
สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.(2543).ตำราตรวจรักษาโรคทั่วไป.(พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพ: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน บจก.
งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง รุ่งฤดี จิณณวาโส และ ภัทราพร พูลสวัสดิ์
จัดทำโดยหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร. 0-2201-2520-1
ขอบคุณข้อมูล จาก http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/71