กระเนื้อ เสี่ยงเป็นมะเร็งหรือไม่?
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เป็นผลจากการเจริญผิดปกติของผิวหนังส่วนบนลักษณะเป็นตุ่มแบน ผิวอาจดูขรุขระเล็กน้อย มีสีแตกต่างกันได้ตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนจนกระทั่งสีดำมีขนาดตั้งแต่เป็นจุดเล็ก จนกระทั่งใหญ่เป็นเซนติเมตรก็ได้ ตุ่มมีลักษณะพิเศษ คือ ดูคล้ายตุ่มนั้นแปะบนผิวหนัง
กระเนื้อเกิดจากอะไร ?
แทบทุกคนเมื่ออายุมากขึ้น จะพบกระเนื้อมากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งเข้าสู่วัยชราก็จะพบได้บ่อยขนาดใหญ่และมีจำนวนมาก เชื่อว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังตามอายุ นอกจากนี้อาจพบมากขึ้นขณะตั้งครรภ์ ตามหลังการให้ยาฮอร์โมนบางชนิด จึงเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดด้วย
กระเนื้อเกิดขึ้นที่ใดในร่างกายได้บ้าง ?
กระเนื้อพบบ่อยที่บริเวณหน้าอก หลัง ใบหน้า คอ และหนังศีรษะ แต่จริง ๆ แล้วสามารถเกิดได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย โดยในระยะแรกจะเป็นตุ่มสีน้ำตาลอ่อน ต่อไปจะขยายใหญ่นูนหนาขึ้น สีเข้มและผิวขรุขระมากขึ้น
กระเนื้อ เกิดขึ้นจากกอะไร ?
จนถึงตอนนี้ทางการแพทย์ก็ยังคงไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดกระเนื้อได้ แต่ก็มีอยู่หลายปัจจัยที่ทำให้เกิดดังต่อไปนี้
- อายุ : เมื่ออายุของเราเพิ่มมากขึ้น การเกิดกระเนื้อก็จะเกิดขึ้นมากไปตามวัย ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปถึง 90% ส่วนในผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 30 - 40 ปี ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน อีกทั้งอัตราการเกิดกระเนื้อทั้งในผู้ชายและผู้หญิงนั้นมีเท่ากัน แต่ก็มักไม่พบในคนที่มีอายุกว่า 20 ปีลงไป
- พันธุกรรม : สำหรับบุคคลที่มีประวัติในครอบครัวเป็นกระเนื้อมาก่อน มักมีโอกาสที่จะเป็นกระเนื้อได้มากกว่าคนทั่วๆ ไป โดยเกิดมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- แสงแดด : ผู้ที่อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน หรือชอบอยู่กลางแจ้งมักจะมีโอกาสเป็นกระเนื้อได้มากขึ้น
- ส่วนสาเหตุอื่นๆ อาทิ โรคผิวหนัง , การติดเชื้อไวรัส หรือการกลายพันธุ์ของยีนก็มีส่วนทำให้เกิดกระเนื้อได้อีกด้วย
ภาวะแทรกซ้อนจากการเกิดกระเนื้อ
‘กระเนื้อ’ นั้นเป็นอีกประเภทหนึ่งของเนื้องอกที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง ไม่มีความรุนแรง ส่วนใหญ่แล้วจะส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอก อาจทำให้เกิดความวิตกกังวล ไม่มั่นใจ ความอาย หรือความเครียด ในบางรายอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวหนังมีอาการบวมและอักเสบ มีอาการผิวแตกจนเกิดเป็นแผล มีเลือดออก รู้สึกไม่สบายตัว ซึ่งอาจเป็นผลมาจากตัวโรคเอง หรือเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาก็เป็นได้
ยังไงก็ตาม ‘กระเนื้อ’ ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากบนผิวหนังอาจมีลักษณะคล้ายกับผื่นได้เช่นกัน ในบางกรณีก็อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งผิวหนัง , เป็นเนื้องอกชนิดอะดี โนคาซิโนมาในทางเดินอาหาร (Gastric Adenocarcinoma) , หรือเป็นกลุ่มอาการที่มีผลมาจากโรคมะเร็ง (Paraneoplastic Syndrome) ซึ่งพบได้น้อย จึงจำเป็นที่แพทย์ต้องทำการวินัจฉัยเพื่อแยกโรคให้ออกจากกัน จะทำให้ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี
กระเนื้อที่เกิดจะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่ ?
ดังที่กล่าวแล้วว่าแทบทุกคนจะมีกระเนื้อเมื่ออายุมากขึ้น ถ้ากระเนื้อไม่ได้เกิดขึ้นจำนวนมากอย่างรวดเร็วแล้วจะไม่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติอื่นในร่างกาย แต่เนื่องจากกระเนื้อมักจะมีขนาดโตขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และถ้ามันอยู่ในบริเวณที่กระทบกระแทกง่าย หรือเราไปแกะเกาทำให้มีเลือดออกก็ขอแนะนำให้รักษา กระเนื้อที่มีสีดำมาก บางครั้งแยกยากจากมะเร็งผิวหนังบางอย่าง ในกรณีเช่นนี้ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
จะป้องกันการเกิดกระเนื้อได้อย่างไร ?
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดกระเนื้อที่ได้ผล
จะรักษากระเนื้อได้อย่างไร ?
วิธีรักษามีหลายวิธี คือ
- จี้ไฟฟ้า ก่อนจี้จะต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดทาบริเวณรอยโรค แล้วจี้บริเวณรอยโรคด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า หลังจากนั้นขูดเนื้อเยื่อบริเวณที่จี้ออก วิธีนี้จะมีแผลตื้น ๆ บริเวณที่ขูดซึ่งจะหายภายใน 1 สัปดาห์
- จี้ด้วยสารเคมี เช่น กรดไตรคลออะซิติค วิธีนี้ไม่ต้องใช้ยาชา แต่จะมีอาการแสบบ้างบริเวณตำแหน่งที่จี้ การจี้จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นตายและหลุดออก ข้อเสีย คือ ถ้ากระเนื้อหนามากอาจหลุดไม่หมด หรือต้องจี้หลายครั้ง
- จี้ด้วยไนโตรเจนเหลว วิธีนี้จะทำให้เกิดตุ่มน้ำพองขึ้นใต้รอยโรค ซึ่งต่อไปจะแห้งเป็นสะเก็ดแล้วหลุดไปใน 2-3 สัปดาห์ ข้อเสียคือบางครั้งอาจเกิดรอยดำหรือขาวหรือแผลเป็นบริเวณรอยโรค สำหรับรอยดำหรือขาวที่เกิดจะจางไปได้ตามเวลา
มีจุดน้ำตาลออกดำที่ผิวหนังเป็นกระเนื้ออย่างเดียวใช่หรือไม่ ?
ไม่ใช่ มีโรคผิวหนังอีกหลายโรคที่ให้ลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น
- หูด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า Human papilloma virus ผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อจะเป็นตุ่มนูนแข็งผิวขรุขระ แต่สีมักเป็นสีเนื้อหรือน้ำตาลอ่อน
- ไฝ
- การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังจากแสงแดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ผิวขาวที่อาชีพการงานต้องออกแดด เป็นระยะเวลานาน ๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลสะสม เห็นผิวหนังเป็นจุดหรือปื้นดำ ๆ มักพบบริเวณใบหน้า คอ แขนด้านนอก หลังมือ
- มะเร็งผิวหนังบางชนิด บางครั้งแยกจากกระเนื้อยาก ข้อสังเกตคือ ถ้ารอยโรคนั้นโตเร็วมีแผลมีเลือดออก หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง
จะป้องกันไม่ให้เกิด ‘กระเนื้อ’ ได้อย่างไร ?
ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ว่า ‘กระเนื้อ’ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่วิธีป้องกันก็ใช่ว่าจะไม่มี เพียงแต่เป็นการยากที่จะป้องไม่ให้เกิดได้ เพราะในบางกรณีก็อาจเกิดขึ้นจากพันธุกรรมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขได้ ส่วนปัจจัยภายในนอกที่อาจเสริมให้เกิดกระเนื้อได้ อย่าง ‘แสงแดด’ เราก็ลดความเสี่ยงด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญแสงแดด อาทิ เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือใส่หมวก รวมถึงหลีกเลี่ยงการตากแดดตั้งแต่ช่วง 10 โมงเช้า ถึงบ่าย 3 โมงเย็น เพราะเป็นช่วงที่มีแดดแรง อีกทั้งควรทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 เป็นอย่างต่ำ เพื่อเป็นการปกป้องผิวให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบคุณเนื้อหาจาก www.si.mahidol.ac.th คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก dartmouth.edu