“โรคหัด” ไข้ออกผื่น อันตรายที่คุกคามเราได้ทุกเวลา
โรคหัด เป็นโรคติดต่อที่พบมากในเด็กเล็ก ขึ้นชื่อว่า “เด็ก” ภูมิต้านทานโรคย่อมมีน้อยกว่าผู้ใหญ่อย่างเรา ดังนั้นควรดูแลเอาใจใส่บุตรหลานของท่านให้ดี เพราะสามารถเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้อีกมาก ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นที่มีภูมิต้านทานมากกว่า ถ้าได้รับการรักษาก่อนก็หายได้ไม่ยาก Sanook! Health จึงขอนำความรู้เรื่อง โรคหัด มาให้อ่านกัน
โรคหัดคืออะไร?
โรคหัดหรือโรคไข้ออกผื่น เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ มอร์บิลลิไวรัส (Morbillivirus) มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่พบมากในเด็กเล็ก เมื่อตรวจพบควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพราะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคหัด
โรคหัดพบมากในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน สามารถติดเชื้อได้จากการ ไอ จาม หรือหายใจรดกัน ซึ่งในเสมหะ น้ำลายและ น้ำมูกของผู้ป่วยจะมีเชื้อไวรัสอยู่ ซึ่งเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ ถือเป็นโรคที่ติดต่อกันได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะในเด็กเพราะเด็กจะชอบเล่นกันอย่างใกล้ชิด ดังนั้นเมื่อมีคนหนึ่งเป็นโรคหัด เชื้อก็จะแพร่ไปได้อย่างรวดเร็ว
อาการของโรคหัด
เมื่อได้รับเชื้อหัดเข้าไปในร่างกาย ระยะแรกจะยังไม่ปรากฏอาการใดๆ เพราะเชื้อจะใช้เวลาในการฟักตัวของโรค ประมาณ 1-2 อาทิตย์
อาการของโรคหัดจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะก่อนออกผื่นและระยะออกผื่น :
1. ระยะก่อนออกผื่น เริ่มด้วยการมีไข้สูง น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ นอกจากนั้นยังมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย จะเป็นแบบนี้อยู่ประมาณ 3-4 วันก่อนออกผื่น และภายในกระพุ้งแก้มจะเกิดจุดเล็กๆ ขาวๆ ขอบสีแดงขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัด
2. ระยะออกผื่น ผื่นจะมีลักษณะนูนแดง ไม่คัน เริ่มขึ้นที่บริเวณใบหน้าก่อน หลังจากนั้นจะแพร่กระจายไปทั่วตัว เมื่อผื่นขึ้น ไข้จะเริ่มลดลง ระยะแรกผื่นจะมีสีแดง ต่อมาสีจะเข้มขึ้นจนแดงคล้ำเป็นเวลาเกือบอาทิตย์ก่อนจะหายไป
โรคแทรกซ้อนระหว่างเป็นหัด
เมื่อเป็นโรคหัด ภูมิต้านทานโรคในร่างกายของเราจะอ่อนแอลง เนื่องจากเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้
- ระบบทางเดินอาหาร อุจจาระร่วง ไส้ติ่งอักเสบ ตับอักเสบ
- ระบบทางเดินหายใจ
- กล่องเสียงอักเสบ
- หูส่วนกลางอักเสบ มักเกิดในเด็กเล็ก อาจมีผลต่อการได้ยินของเด็กได้
- ระบบประสาท
- สมองอักเสบ ถึงโอกาสเกิดจะมีน้อย แต่ถ้าเกิดขึ้นอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
ระบบของร่างกายไม่ว่าระบบใด หากมีความผิดปกติขึ้นมาย่อมมีผลกระทบต่อร่างกายไม่ใช่น้อย ดังนั้นถ้าเริ่มมีอาการควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพื่อกันไม่ให้โรคแทรกซ้อนเหล่านี้เกิดขึ้น
การรักษาโรคหัด
- รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หากเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น เช่น หูอักเสบหรือปอดอักเสบ
- รักษาตามอาการ โดยแพทย์จะสั่งยาลดไข้ อาหารและน้ำ ยาแก้ไอเพื่อขับเสมหะ ร่วมกับการเช็ดตัว
- รับประทานอาหารอ่อนๆ ครบ 5 หมู่และให้วิตามินเอเสริม เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรคหัด
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ติดเชื้อหัด
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด (หากสัมผัสผู้ป่วย ควรฉีดวัคซีนภายใน 72 ชั่วโมง)
โรคหัดน่ากลัวจริงๆ เลยนะ เมื่อรู้เรื่องราวของโรคแล้ว อย่าลืมดูแลบุตรหลานรวมถึงตัวเองให้ดีด้วยล่ะ ถ้าเป็นขึ้นมาจะไม่ใช่เป็นแค่โรคหัดนะ ความน่ากลัวอยู่ที่โรคแทรกซ้อนที่จะตามมานี่แหละ ร้ายไม่ใช่เล่นๆ เลย
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก haamor , สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจาก istockphoto
Story : Martmatt