เปิดใจ! คุณแม่ “เก้า-จิรายุ” คุยเรื่องเพศกับลูกอย่างไรให้เหมาะสม

เปิดใจ! คุณแม่ “เก้า-จิรายุ” คุยเรื่องเพศกับลูกอย่างไรให้เหมาะสม

เปิดใจ! คุณแม่ “เก้า-จิรายุ” คุยเรื่องเพศกับลูกอย่างไรให้เหมาะสม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากยังจำกันได้ คุณแม่ก้อย-วรนุช ละอองมณี แม่ของนักแสดงหนุ่มวัยรุ่นชื่อดัง เก้า-จิรายุ ละอองมณี คือคุณแม่หัวก้าวหน้าที่แนะนำให้ลูกชายสุดฮอตพกถุงยางอนามัยติดตัว จนกลายเป็นกระแสทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์  โดยผู้เป็นแม่คนนี้ไม่มีเหนียมอายใดๆ เธอพร้อมเปิดใจ และเปิดอกคุยกับลูกได้ทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องที่หลายคนกระอักกระอ่วนใจอย่างเรื่อง “เพศ” คุณแม่หัวคิดทันสมัยคนนี้มีเคล็ดลับในการสอนลูกเรื่องเพศอย่างไร มาดูกันค่ะ

คุยเรื่องเพศกับลูกอย่างไรให้เหมาะสม

1. สอดแทรกประเด็นเรื่องเพศในชีวิตประจำวันด้วยความสนุก
คุณแม่ก้อยบอกว่าขั้นแรกพ่อแม่ต้องเปิดใจให้กว้าง “ผู้ใหญ่ต้องยอมรับก่อนว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ และเป็นเรื่องที่ควรนำมาพูดคุยกันในครอบครัว อาจจะแทรกในบทสนทนาทั่วไปก็ได้ บางทีเจอหนังหรือละครมีฉากจับมือกัน เราก็จะทำทีแซวลูก ‘นี่ เคยโดนจับมือหรือยัง’ เขาก็จะยิ้มๆ จากนั้นเราอาจคุยประสบการณ์ของเราให้เขาฟัง เช่น พูดเปรยๆ ว่า ‘สมัยแม่นะ ไปเที่ยวผับกับเพื่อน แล้วเจออย่างนี้ๆ นะ’ เปรยๆ ไปเรื่อย บางทีไม่รู้หรอกว่าลูกฟังไหม แต่เราเชื่อว่าเด็กเขาสนใจเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว แต่เขาไม่รู้จะพูดกับใคร”

อีกวิธีหนึ่งที่คุณแม่ก้อยบอกว่าได้ผล คือการสร้างโอกาสในการพูดคุย เช่น ชวนกันไปทำกิจกรรม หรือเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ
“ตั้งแต่เก้ายังเด็ก แม่ชอบพาเขาไปทำบุญวันเกิดที่สถานสงเคราะห์บ้านเด็กอ่อน เพราะอยากสอนให้เขารู้จักการแบ่งปัน พอเขาเจอเด็กๆ เขาก็มักจะมีคำถามตามมาเสมอ เช่น ‘ทำไมเด็กที่นี่ถึงไม่มีพ่อแม่’ เราก็จะสอนให้เขารู้ว่ามันเกิดจากอะไร ‘เพราะพ่อแม่น้องๆ มีน้องตอนไม่พร้อมไงลูก เขาเลยต้องเอาน้องมาทิ้งไว้ที่นี่’ หรืออย่างตอนเก้ามีโอกาสทำงานร่วมกับโครงการบ้านพักฉุกเฉิน ที่มีวัยรุ่นท้องแล้วเข้ารับการดูแลในโครงการ เราก็จะถือโอกาสเปิดอกคุยว่า ‘น้องเด็กกว่าเก้าอีกนะ แต่ทำไมถึงท้อง’ ทีนี้เราก็พูดคุยกับน้องๆ ในโครงการด้วย เก้าก็จะได้รับฟังคำตอบไปด้วย ก็มีเรื่องชวนตกใจเหมือนกัน อย่างน้องบางคนบอกว่าทำไปด้วยความไม่รู้ เพราะผู้ชายอายุมากกว่า ยิ่งทำให้เราเห็นว่า บางเรื่องเด็กก็ไม่รู้นะ ผู้ใหญ่นี่แหละที่ต้องคอยพูดคุยและแนะนำ”

2. ลูกเพศไหนก็คุยได้

แม้วัยรุ่นหญิงและชายจะมีประเด็นอ่อนไหวเรื่องเพศแตกต่างกัน แต่คุณแม่ก้อยเห็นว่า  การสอนเรื่องเพศศึกษานั้นไม่ควรแยกเพศ
“เรื่องนี้คุยด้วยกันได้ อย่างครอบครัวเราจะมีทั้งลูกชายและลูกสาว การคุยพร้อมกันจะทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่าอีกฝั่งคิดอย่างไร เพราะการกระทำเดียวกัน เด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายอาจตีความไม่เหมือนกัน เขายิ่งจะได้ประโยชน์จากการพูดคุย เพียงแต่ว่าเวลาพูดถึงวิธีป้องกันตนเองของผู้หญิงกับผู้ชาย มันอาจต่างกันเท่านั้นเอง”

นอกจากนี้ ในสังคมปัจจุบัน อาจไม่มีคีแค่ความสัมพันธ์ระหว่าง ชาย-หญิง อีกต่อไป
“เราไม่ควรมองเพศศึกษาว่าต้องสื่อสารแยกเพศ เพราะปัจจุบัน เพศศึกษาไม่ได้จำกัดแค่ความสัมพันธ์ของชายหญิงอีกแล้ว เพศศึกษาอาจหมายถึงชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ยังได้เลย เราต้องยอมรับตรงจุดนี้ ถ้ามองให้พ้นกรอบชายหญิง เวลาพูดคุยหรือแนะนำเขา เราจะแนะนำได้ครอบคลุมกว่า”

 3. ยอมรับและเข้าใจ + สนิทแต่มีระยะห่าง

เมื่อถามถึงคุณสมบัติที่พ่อแม่ควรมี ในการสื่อสารเรื่องเพศเชิงสร้างสรรค์กับลูก คุณแม่ก้อยยืนยันว่า “การยอมรับและเข้าใจ” คือคำตอบ
“พ่อแม่ต้องยอมรับก่อนว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ต้องบอก ต้องคุยกัน ถึงเราไม่บอก คิดว่าลูกจะไม่รู้เหรอคะ สมัยนี้มีช่องทางจำนวนมากให้เขาเสิร์ชหา เด็กน่ะรู้ช่องทางอยู่แล้ว แต่เขาอาจไม่เข้าใจผลดีผลเสีย บางเรื่องก็ต้องยอมรับว่าเขาทำไปด้วยอารมณ์ ด้วยฮอร์โมน ถ้าเรายอมรับและเข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติ พร้อมสอนวิธีป้องกันตัวที่ถูกต้องให้เขา น่าจะดีกว่า”

ขณะเดียวกันการเคารพความเป็นส่วนตัวของลูกก็สำคัญ “แต่การพูดคุย ก็ต้องไม่ไปแทรกแซงเรื่องส่วนตัวของลูกมากไปนะคะ วัยรุ่นน่ะเขาจะมีเรื่องส่วนตัวที่อยากเก็บไว้ ถึงเราเป็นแม่ที่สนิทกับลูก ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องรู้ทุกอย่างของเขา เพราะตัวเราเองยังไม่สามารถบอกลูกได้ทุกเรื่องเลย ตรงนี้พ่อแม่ควรเข้าใจ คือสนิทแต่รู้จักที่จะเว้นระยะห่าง และไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวเขามากเกินไป"

4. อย่าลืมมอบคาถาป้องกันตัวกับลูก

เพราะพ่อแม่อยู่ปกป้องลูกตลอดเวลาไม่ได้  การสอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ และป้องกันตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าลูกจะเป็นเพสอะไรก็ตาม
“เขาต้องกล้าพูด และต้องไม่ปล่อยให้คนอื่นทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องกับตัวเขา เช่นเวลาลูกสาวขึ้นรถเมล์ เราจะบอกให้ระวังตัวหน่อยนะ ถ้าเจอโรคจิต มีคนมาถูหลัง ลูกต้องกล้าพูดว่า 'ไม่' ออกมาเลย ขณะเดียวกัน เรื่องนี้จะสอนแค่ลูกสาวไม่ได้ เราต้องสอนลูกชายด้วย สอนให้เขารู้ว่าเขามีสิทธิ์ปฏิเสธ และปกป้องตนเองเหมือนกันนะ อย่างเก้าอยู่ในวงการที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก เราไม่รู้หรอกว่าเขาจะเจอกับอะไรบ้าง แต่เราทำได้แค่สอนให้เขารู้จักดูแลตัวเอง รู้จักปฏิเสธถ้ามันไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เราต้องมอบคาถาในการป้องกันตัวให้เขา"

คาถาในการป้องกันตัวนี้ก็คงถูกส่งต่อให้ลูกไม่ได้ หากพ่อแม่ไม่รู้จัก "เปิดโอกาสคุย เพื่อปิดโอกาสพลาด" ดังนั้นอย่าพลาดโอกาสทองเปิดใจคุยกับลูกตามเคล็ดลับของคุณแม่ก้อย หรือหากไม่มั่นใจว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร ลองศึกษาข้อมูลจาก www.คุยเรื่องเพศ.com กันได้ค่ะ “เรื่องเพศ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย” จำให้ขึ้นใจนะคะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook