อันตรายไหม? หากบังเอิญเผลอกิน “เชื้อรา” เข้าสู่ร่างกาย
“ขนมปังที่เพิ่งจะซื้อมา ขึ้นราเสียแล้ว” เรื่องแบบนี้ เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่อากาศทั้งร้อน ทั้งชื้น ถ้าเห็นก่อนว่าขนมชิ้นนั้นมันขึ้นรา แล้วก็ทิ้งมันไปก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้ากินเข้าไปจนจะหมดแล้ว ค่อยมาเห็นทีหลังนี่สิ เอามาเพ่งดู ยิ่งเพ่งก็ยิ่งเห็นชัด ว่ามันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากเชื้อราอย่างเดียวเท่านั้น แล้วที่นี่จะทำอย่างไร
Omar Oyarzabal ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารของมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ แนะนำว่า เราต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมปัง และอาหาร ที่มีลักษณะเหมือนมีเชื้อราติดอยู่ แม้ว่าเราจะอยู่ในยุคของอาหารที่ต่างก็ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อมาสารพัด แต่ก็ยังมีโอกาสที่เราจะพบเชื้อราในอาหารได้ หากสังเกตเห็นว่าขนมปัง มีจุดเล็กๆ ที่อาจจะเป็นเชื้อรา ให้ทิ้งมันไปทั้งชิ้นเลย
เพราะเชื้อรานั้น จะมีลักษณะเป็นเส้นๆ เหมือนเส้นผมที่เล็ก และบางมาก มันมีราก และแผ่ขยายออกไปแม้ในพื้นผิวที่เรามองไม่เห็น ดังนั้น หากพบเชื้อราเพียงจุดเล็กๆ 1 จุด บนชิ้นขนมปัง ก็ให้โยนมันทิ้งไปให้หมดทั้งก้อน และการจะหลีกเลี่ยงการกินเชื้อรา ก็ทำได้วิธีเดียวคือ สังเกตอย่างรอบคอบ
แต่หากเราเผลอกินอาหารที่มีเชื้อราเข้าไปเรียบร้อยแล้ว จะทำอย่างไรต่อดี?
เชื้อราบนขนมปัง นิดๆ หน่อยๆ ไม่เป็นอันตรายมากนัก บางคนกังวลมากว่า เชื้อราเป็นสารพิษ และยังก่อให้เกิดอาการแพ้ แต่เชื่อหรือไม่ เชื้อราธรรมดาๆ ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า เพนิซิลเลี่ยม ที่เป็นราเขียวๆ บนขนมปัง เรานำมาใช้ทำยาปฏิชีวนะที่ชื่อว่า “เพนิซิลิน” แต่สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้เชื้อรา แล้วบังเอิญกินเข้าไป อาจเป็นอันตรายได้ อาการแพ้อาจรุนแรงถึงขั้นความดันตก หายใจลำบาก ไปจนถึงหัวใจล้มเหลวเลยทีเดียว
แต่ถ้าหากไม่แพ้ และเผลอกินเชื้อราเข้าไป ก็ไม่ต้องตื่นตกใจ เพราะเชื้อราจะทำอันตรายต่อร่างกายเราได้ ในกรณีที่กินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเท่านั้น
เราจะหลีกเลี่ยงเชื้อราได้อย่างไรบ้าง?
- การหมั่นสังเกต อาหารที่จะซื้อ และก่อนที่จะรับประทานเข้าไป การดม ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเชื้อราไม่มีกลิ่น และลองสังเกตตัวเอง ว่ามีอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น คัดจมูก คัน น้ำตาไหล น้ำมูกไหล คันปาก คันจมูก จากการทานอาหารบ้างหรือไม่
- ควรรักษาความสะอาดภายในบ้านให้ดี เพราะนั่นเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำเพี่อป้องกันเชื้อรา นอกจากนี้เชื้อราสามารถเติบโต และแพร่สปอร์ออกไปตามพื้นผิวต่างๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ดังนั้นตามตู้เย็น ผ้าเช็ดจาน ภาชนะใส่อาหาร หรือแม้กระทั่งเคาท์เตอร์ในครัว ก็อาจจะมีสปอร์ของเชื้อราเกาะอยู่ได้ จึงควรทำความสะอาดบ่อย ๆ
- เชื้อราเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้น หากเป็นไปได้ ควรควบคุมระดับความชื้นภายในบ้าน ไม่ให้เกิน 40%
- ควรทำความสะอาดภายในตู้เย็นบ่อยๆ อย่างน้อยเดือนหรือสองเดือนครั้ง ด้วยการนำเบกกิ้งโซดา มาละลายน้ำ แล้วเช็ดทำความสะอาด และจุดไหน ที่น่าสงสัยว่าจะมีเชื้อรา ก็ให้นำน้ำส้มสายชูผสมกับน้ำ มาขัดออก ส่วนผ้าเช็ดจาน หากเริ่มมีกลิ่น ก็ให้นำไปทิ้งเสียดีกว่าจะซักมาใช้อีก เพราะนั่นอาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้เชื้อราแพร่กระจายในบ้านต่อไป