ฉีดเกล็ดเลือด... รักษาเอ็นข้อเท้าอักเสบ
การรักษาโรคเอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ หรือโรครองช้ำ และอาการปวดข้อเท้าเรื้อรังทางด้านหลังมีสาเหตุมาจากเอ็นร้อยหวายอักเสบ จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปเพราะปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์กับอีกหนึ่งทางเลือกด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP:Platelet Rich Plasma) เพื่อซ่อมแซมส่วนที่ได้รับการการบาดเจ็บ ซึ่งได้มีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีของการรักษาที่ได้ผลดี
ทั้งนี้โรครองช้ำ ส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นในคนไข้สูงอายุ โดยในเบื้องต้นแพทย์จะรักษาทางกายภาพ หรือปรับลดกิจกรรม รวมถึงการให้ลดน้ำหนักตัว และใส่อุปกรณ์เสริมเช่น ซิลิโคลนรองใต้ส้นเท้าหรือปรับรองเท้า แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทำทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น ขั้นตอนต่อไปแพทย์จะแนะนำให้ฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น(PRP:Platelet Rich Plasma)
วิธีการนำเกล็ดเลือดมารักษา
แพทย์จะนำเลือดของคนไข้มาปั่นแยกส่วนที่เป็นเกล็ดเลือดรวมทั้ง growth factor ออกมา ซึ่ง 2 ส่วนนี้ จะไปออกฤทธิ์ในการรักษา ได้แก่
1. ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนในบริเวณที่ได้รับการบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือว่ากระดูกที่ได้รับการบาดเจ็บ จะช่วยไปเสริมสร้างทำให้หายจากการบาดเจ็บได้เร็วขึ้น
2. ช่วยเสริมสร้างเส้นเลือดเล็ก ๆ ใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อเป็นการเพิ่มการไหลเวียนของบริเวณที่ได้รับการบาดเจ็บทำให้หายได้เร็วขึ้น
3. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว
ข้อจำกัดในการฉีดเกล็ดเลือด
1. คนไข้ที่มีโลหิตจางหรือผู้ที่มีเกล็ดเลือดต่ำ
2. ผู้ที่ได้รับการฉีดสเตียรอยด์ในตำแหน่งนั้นมาก่อนเป็นระยะเวลา 1 เดือน
3. คนไข้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง ควรจะต้องหยุดยาแก้ปวดแก้อักเสบมาก่อน 1 สัปดาห์
4. ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งในเม็ดเลือดหรือมะเร็งที่กระดูก
การฉีดเกล็ดเลือดต้องใช้ระยะเวลาแค่ไหนถึงหาย
โดยทั่วไปเกล็ดเลือดจะเริ่มออกฤทธิ์ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องขึ้นอยู่ที่ตำแหน่งของการฉีดด้วย ในแต่ละตำแหน่งการออกฤทธิ์มีความแตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบันยังคงแนะนำให้ฉีด 1 ครั้ง แล้วติดตามดูอาการก่อน แต่สิ่งสำคัญแพทย์จะทำการรักษาในทุก ๆ ด้านร่วมด้วย เช่น การปรับกิจกรรม การบริหารกล้ามเนื้อ การยืดเส้น การเพิ่มความแข็งแรง หรือการยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ร่วมกัน เพราะถ้าจะหวังพึ่งประสิทธิภาพของเกล็ดเลือดเพียงอย่างเดียวอาจจะได้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่
เมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ก้าวไกลอย่างไม่หยุดนิ่ง การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP:Platelet Rich Plasma)
ถือว่าเป็นการตอบโจทย์ผู้ป่วยได้ตรงจุดจริง ๆ จึงอยากแนะนำว่า การรักษาไม่ว่าอะไรก็ตามจะต้องมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะได้รับประสิทธิภาพสูงสุดด้วย
นพ.กฤษฎิ์ พฤกษะวัน
ศัลยแพทย์โรคกระดูกเท้าและข้อเท้า
โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111
ภาพประกอบจาก istockphoto